GC และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเปิดตัวห้องเรียนวิทยาศาสตร์ “Fun Science Lab” ในจังหวัดระยอง
เปิดแล้ว “ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ Fun Science Lab” ที่โรงเรียนบ้านหนองแฟบ จังหวัดระยอง มุ่งส่งเสริมการเรียนวิทยาศาสตร์แบบ Active Learning เน้นการปฏิบัติจริงและการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชน ห้องเรียนนี้ติดตั้งอุปกรณ์ทันสมัย เช่น เครื่องพิมพ์ 3 มิติ และแลปเคมี เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับสารเคมีในชีวิตประจำวันและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่างไร้ขีดจำกัด โครงการนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC และคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับเกียรติจากคุณสลารีวรรณ ทัพทวี รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง และคุณช่อชะบา ชื่นบาน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 1 เข้าร่วมในพิธีเปิดงาน
คุณทศพร บุณยพิพัฒน์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การพัฒนาห้องเรียนวิทยาศาสตร์ Fun Science Lab แห่งนี้ เกิดขึ้นจากความตั้งใจ และเป็นการต่อยอดจากความร่วมมือในกิจกรรมสร้างองค์พระพิฆเนศวรในปี 2566 ที่ผ่านมา โดยงบประมาณส่วนหนึ่งจากกิจกรรมดังกล่าวได้นำมาจัดสร้างห้องเรียนวิทยาศาสตร์นี้ เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับนักเรียนในโรงเรียนบ้านหนองแฟบและโรงเรียนอื่นๆ
ห้องเรียน Fun Science Lab ได้รับการออกแบบและสร้างขึ้นด้วยเป้าหมายในการสนับสนุนการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ โดยใช้แนวคิด Active Learning ที่เน้นการลงมือปฏิบัติและการเรียนรู้ด้วยความสนุกสนานและความคิดสร้างสรรค์ นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมให้เยาวชน ได้พัฒนาความรู้และศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นรากฐานในการต่อยอดความสนใจในการศึกษาและประกอบอาชีพในสายงานวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีความต้องการในพื้นที่
โครงการนี้ประสบความสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือจากหลายฝ่าย รวมถึงคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัทในกลุ่ม GC โดยห้องเรียน Fun Science Lab แห่งนี้ได้รับการสนับสนุนจากพนักงานจิตอาสาของ GC ร่วมออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ พร้อมทั้งได้รับความเมตตาจากพระครูรัตนากรวิสุทธิ์ เจ้าอาวาสวัดหนองแฟบ ที่อนุญาตให้ใช้พื้นที่วัดในการก่อสร้างห้องเรียนนี้
รองศาสตราจารย์ ดร. พร้อมพงศ์ เพียรพินิจธรรม ผู้ช่วยคณบดี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คณะวิทยาศาสตร์มีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ในการสนับสนุนและผลักดันโครงการนี้ให้สำเร็จ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อเยาวชนในพื้นที่ โดยได้นำองค์ความรู้ พร้อมด้วยด้วยอุปกรณ์ที่ทันสมัย เช่น เครื่องพิมพ์ 3 มิติ และชุดการทดลองเคมี ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนได้ต่อยอดจินตนาการและเรียนรู้อย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับสารเคมีที่ใช้ในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ ยังได้จัดเตรียมชุดการทดลองวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษา จำนวนมากกว่า 50 การทดลอง โมเดลร่างกายมนุษย์ แบบจำลองทางดาราศาสตร์ และกล้องจุลทรรศน์ เพื่อใช้ในการเรียนการสอนของโรงเรียนด้วย ทั้งนี้ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หวังเป็นอย่างยิ่งว่าห้องเรียนวิทยาศาสตร์ Fun Science Lab แห่งนี้จะช่วยพัฒนาทักษะและศักยภาพของเยาวชนในพื้นที่ และเป็นแรงผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและมีประโยชน์ต่อชุมชนในอนาคตต่อไป
#GenS
#GenSStandforSustainability
#GCChemistryforBetterLiving