“ภูมิธรรม”มอบ สศท. จับมือพาณิชย์ พันธมิตร ต่อยอดงานศิลปหัตถกรรมไทย ชูใช้อัตลักษณ์ท้องถิ่นปรับให้ทันโลก พร้อมสร้างทายาทคนรุ่นใหม่สืบทอด
วันที่ 24 มิถุนายน 2567 เวลา 13.00 น.
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายการขับเคลื่อนสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย(องค์การมหาชน) สศท. หรือ sacit ที่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อสืบสานงานสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ชูงานศิลปหัตถกรรมที่เป็น Soft Power ช่วยผลักดันเศรษฐกิจ สร้างเม็ดเงินเข้าประเทศ โดยเน้นย้ำให้ สศท.เดินหน้า “สืบสาน รักษา พัฒนาต่อยอด”งานศิลปหัตถกรรม พร้อมเป็นศูนย์กลางด้านองค์ความรู้ในงานหัตถศิลป์ทรงคุณค่า ควบคู่การ บูรณาการการทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานพันธมิตร สร้างความยั่งยืนให้แก่งานศิลปหัตถกรรมไทย โดยมีนายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ดร.เสรี นนทสูติ ประธานกรรมการ สศท. นางพรรณวิลาส แพพ่วง รักษาการแทนผู้อำนวยการ สศท. ร่วมด้วย
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทยเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนงานศิลปหัตถกรรมไทยในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรม ซึ่งนับว่าเป็นกลไกสำคัญที่ผลักดันให้งานศิลปหัตถกรรมเป็น Soft Power ของประเทศที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ภารกิจที่สำคัญอีกด้านหนึ่งของ สศท.คือการรวบรวมองค์ความรู้และฐานข้อมูลเกี่ยวกับ ครูศิลป์ ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าของชาติที่จะต้องสืบสาน รักษา และต่อยอดให้คงอยู่
“ต้องให้โอกาสเอาช่างฝีมือที่ทันต่อโลก ทันยุคสมัย มาปรับเปลี่ยนกับของเดิมที่มีอัตลักษณ์ของไทยโดยไม่เสียอัตลักษณ์ ให้คนใหม่ๆหรือต่างประเทศเข้าสู่งานศิลป์ของไทยได้เพิ่มขึ้นทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลง เข้าถึงได้กับคนรุ่นใหม่ รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับซอฟต์พาวเวอร์ เป็นงานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย ดูแล สร้างสรรค์ภูมิปัญญา ด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับผู้สร้างสรรค์อย่างเป็นรูปธรรม วันนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปเร็ว ถ้าเราจะอยู่ในโลกนี้ได้ต้องปรับตัวให้ทันกับโลก“ นายภูมิธรรมกล่าว
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า SACIT อยู่กับกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นกระทรวงมีศักยภาพที่จะทำให้ชุมชน วิสาหกิจชุมชนและประชาชนเติบโตได้ ทั้งเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา การจดทะเบียน การส่งเสริมการส่งออกทุกส่วนต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันกับพันธมิตร ดึงคุณค่าอัตลักษณ์ของไทยให้ออกมาได้อย่างมีศักยภาพ ให้คนไทยรู้สึกภาคภูมิใจในงานหัตถกรรมและการรักษาหัตถกรรมไทยให้ยั่งยืนต้องมีทายาท สร้างคนรุ่นใหม่เข้ามา เด็กรุ่นใหม่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ให้เกิดการประสานงานกันของคนทั้ง 3 รุ่น ทั้งรุ่นใหญ่ รุ่นกลาง รุ่นใหม่ จะเกิดองค์ความรู้มาพัฒนาสอดรับกับยุคสมัย ให้เราเป็น Craft Center ของประเทศ รัฐบาลพร้อมสนับสนุน
ซึ่งที่นี่มีภาระค่าใช้จ่ายดูแลต้องเข้ามาช่วยกันแก้ไขปัญหา และตนได้ให้นโยบายว่าทำอย่างไรให้ที่นี่เป็นศูนย์กลางให้จังหวัดต่างๆในภาคกลางมาใช้จัดแสดงงาน ใช้สถานที่และเป็นศูนย์ท่องเที่ยวประสานงานกับพันธมิตรเป็นศูนย์กลางในระดับประเทศต่อไป และกระทรวงพาณิชย์ก็จะให้หน่วยงานต่างๆเข้ามาใช้สถานที่ พร้อมให้คนรุ่นใหม่เข้ามาใช้ได้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้วัฒนธรรม หัตถกรรมไทย ถ่ายทอดให้ชาวต่างชาติเห็นถึงจิตวิญญาณของคนไทย