‘ดีอี’ ผนึกกำลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งเครื่องปราบอาชญากรรมไซเบอร์ ตามข้อสั่งการฯ นายกรัฐมนตรี เชื่อมโยงข้อมูลทุกหน่วยงาน จัดการภัยออนไลน์ทุกรูปแบบ
– – – – – –
วันที่ 9 เมษายน 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชกรรมออนไลน์ทางเทคโนโลยี ซึ่งได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ , นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย , ผู้แทนกระทรวงกลาโหม , ผู้แทนศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (National Electronics and Computer Technology Center : NECTEC หรือเนคเทค) , ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) , ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) , ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) , ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย ผู้แทนสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) , ผู้แทนกรมสอบสวน
คดีพิเศษ (DSI) , ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) มาหารือร่วมกันเพื่อดำเนินงานตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ในการแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ ให้มีผลงานชัดเจนใน 30 วัน
.
นายประเสริฐ กล่าวว่า ผลการหารือในวันนี้ ประกอบด้วย 1. การบูรณาการข้อมูล มอบหมายให้ กสทช. ธปท. สมาคมธนาคารไทย กลต. ปปง. ดีเอสไอ สตช. และกระทรวงดีอี เร่งดำเนินการบูรณาการข้อมูล โดยมีกระทรวงดีอี ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center : ศูนย์ AOC) เป็นเจ้าภาพหลัก ในการเชื่อมโยงข้อมูลของทุกหน่วยงาน ซึ่งทุกหน่วยงานจะต้องส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อมูลบัญชีม้า ซิมม้า ข้อมูล URL/Line ของเว็บพนัน หรือข้อมูลอื่นๆ ที่ศูนย์ AOC 1441 ร้องขอ รวมทั้งพัฒนาระบบบูรณาการข้อมูลให้มีความมั่นคงปลอดภัย และ ไม่ขัดต่อ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
.
2. มาตรการแก้ไขปัญหาบัญชีม้า มอบหมายให้ ธปท. และสมาคมธนาคารไทย แก้ไขปัญหา โดยการนำบัญชีม้าออกจากระบบอย่างเร่งด่วน มีมาตรการป้องกันการเกิดบัญชีม้าเข้าสู่ในระบบ รวมถึงมาตรการกำกับการเปิดบัญชีออนไลน์ และการเปิดบัญชีหลายบัญชีต้องมีมาตรการตรวจสอบก่อนอนุมัติเปิดบัญชี โดยสั่งการให้ ธปท. กำหนดมาตรการควบคุมการเปิดบัญชี รวมถึงการมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบความเสียหายร่วมกัน
ภายใน 1 สัปดาห์ ที่ผ่านมาสำนักงาน ปปง. ได้ดำเนินการปิดบัญชีม้าไปแล้ว 318,298 บัญชี และศูนย์ AOC ปิดไปแล้ว 102,900 บัญชี
.
3. การแก้ไขปัญหาซิมม้าได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดย กสทช. ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตนสำหรับผู้ถือครองซิมการ์ดมากกว่า 100 ซิม โดยครบกำหนดการยืนยันตัวตนเมื่อวันที่ 14 ก.พ.2567 มีผู้มายืนยันตัวตนแล้วจำนวน 2.57 ล้านหมายเลข และอยู่ระหว่างดำเนินการระงับ จำนวน 2.5 ล้านหมายเลข โดยในส่วนของ สตช. และกระทรวงดีอีได้ระงับซิมม้าไปแล้ว 8 แสนกว่าหมายเลข
.
4. ดำเนินการเรื่องเสาโทรคมนาคม สายสัญญาณอินเทอร์เน็ต และสายโทรศัพท์ ที่ผิดกฎหมายตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน โดยร่วมกับกระทรวงกลาโหม กสทช. สตช. เพื่อปิดกั้น และจับกุมผู้กระทำความผิด
.
5. ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยในการจับกุม ปราบปราม ชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยที่มีพฤติกรรมผิดกฎหมายโดยเฉพาะการชักชวน หลอกลวงคนไทยเพื่อพาไปทำงานเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ ให้ความสำคัญกับจังหวัดที่มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน
.
6. การปราบปรามจับกุมอาชญากรรมออนไลน์ มอบหมายให้ สตช. ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการปราบปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และอาชญากรรมออนไลน์ โดยมีเป้าหมายชัดเจน และบูรณาการแผนฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการสืบสวน สอบสวน และขยายผลการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ที่ร่วมการกระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์
.
7. ดำเนินงานด้านระหว่างประเทศ ได้มอบหมายให้กระทรวงดีอี สตช. บูรณาการประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ในเชิงรุก รวมทั้ง มอบหมายให้ สตช. และ ตม. เคร่งครัดการตรวจสอบบุคคลเข้า-ออก และการเข้า-ออกผ่านช่องทางธรรมชาติ เพื่อลดปัญหาการเดินทางไปทำงานเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ รวมถึงการขนเงินออกนอกประเทศ ซึ่ง กต. ให้การสนับสนุนการประสานงาน ในการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน ในประเด็นการแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เว็บพนันออนไลน์ รวมถึงประเด็นปัญหาอาชญกรรมออนไลน์อื่นๆ รวมทั้ง ขอความร่วมมืออธิบดีกรมการปกครองสำรวจคนต่างด้าวที่พำนักอาศัยในประเทศสักระยะหนึ่ง ให้แจ้งข้อมูลส่งให้ศูนย์ AOC1441 เพื่อตรวจสอบพฤติกรรมที่ผิดสังเกตของคนต่างด้าวที่เป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์
.
8. การแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบ เกี่ยวกับการแก้ปัญหาภัยออนไลน์ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้ 1) ขอให้ สคบ. พิจารณาแก้ไขกฎหมาย หรือกฎระเบียบ ที่เกี่ยวกับการบริการเก็บเงินปลายทางสำหรับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (COD) เพื่อขจัดปัญหาการหลอกขายสินค้าออนไลน์ ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ , 2) กลต. ศึกษาระเบียบการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลของผู้ประกอบธุรกิจ P2P และประกาศใช้ เพื่อตัดช่องทางการโอนเงินไปเป็นสกุลเงินดิจิทัลออกจากบัญชีม้า , 3) สำนักงาน กสทช. กำหนดกฎระเบียบเกี่ยวกับการใช้บริการข้อความสั้น (SMS) ในการส่งข้อความหรือส่งลิงก์หลอกลวง , 4) คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย พิจารณาแก้ไขปัญหาการคืนเงินให้แก่ผู้เสียหายและ 5) สำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล
.
“ทั้งนี้กระทรวงดีอี ได้ร่วมกับ NECTEC หารือแนวทางการจัดตั้งห้องปฏิบัติการปัญญาประดิษฐ์เพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับ AOC (AOC Data Lab) เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ตรวจสอบข้อมูลเพื่อใช้กำหนดนโยบายการแก้ไข และป้องกันอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งกระทรวงดีอี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือกันเร่งแก้ไขปัญหาภัยออนไลน์ให้แก่พี่น้องประชาชนอย่างเร่งด่วน ตามข้อสั่งการของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยได้กำชับทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการและรายงานความคืบหน้าให้ทราบทุกสัปดาห์” นายประเสริฐ กล่าวย้ำ
/////////////////