สระบุรี – พิธีมอบแบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” “ผ้าลายชบาปัตตานี” และเครื่องหมายรับรองสินค้าแฟชั่นและหัตถกรรมพระราชทาน “Sustainable Fashion : แฟชั่นแห่งความยั่งยืน”(มีคลิป)

สระบุรี – พิธีมอบแบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” “ผ้าลายชบาปัตตานี” และเครื่องหมายรับรองสินค้าแฟชั่นและหัตถกรรมพระราชทาน “Sustainable Fashion : แฟชั่นแห่งความยั่งยืน”(มีคลิป)

วันที่ 4 เมษายน 2567 เวลา 10.00 น. ที่หอประชุมศูนย์ราชการจังหวัดสระบุรี นายบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เป็นประธานในพิธีเชิญแบบผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” “ผ้าลายชบาปัตตานี” และเครื่องหมายรับรองสินค้าแฟชั่นและหัตถกรรมพระราชทาน “Sustainable Fashion : แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” มอบให้แก่ตัวแทนส่วนราชการ นายอำเภอทั้ง 13 อำเภอ ของจังหวัดสระบุรี และตัวแทนกลุ่มทอผ้าของจังหวัดสระบุรี เพื่อนำไปใช้เป็นต้นแบบ ให้ช่างทอผ้า กลุ่มทอผ้า และผู้ผลิตผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค ได้นำลายพระราชทานไปพัฒนาต่อยอด ตามอัตลักษณ์แต่ละท้องถิ่น เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าพื้นถิ่น นำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้กระจายสู่ชุมชนและยังเป็นการเผยแพร่พระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้านการออกแบบเครื่องแต่งกายและการอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมจากภูมิปัญญาพื้นถิ่นของไทยให้ดำรงอยู่อย่างยั่งยืน โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนกลุ่มทอผ้าจังหวัดสระบุรี เข้าร่วมพิธีรับมอบ

โอกาสนี้ นายบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ประธานในพิธีเปิดกรวยกระทงธูปเทียนแพ ถวายความเคารพเบื้องหน้าพระฉายาลักษณ์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และกล่าวสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
จากนั้น นายบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ได้เชิญลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” “ผ้าลายชบาปัตตานี” มอบให้แก่ตัวแทนส่วนราชการและผู้แทนกลุ่มทอผ้าเบื้องหน้าพระฉายาลักษณ์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้แก่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาสระบุรี ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสระบุรี สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสระบุรี นายอำเภอ 13 อำเภอ ประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัดสระบุรี ผู้แทนกลุ่มทอผ้าจังหวัดสระบุรี จำนวน 11 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มบ้านเฮาเสาไห้ อำเภอเสาไห้ กลุ่มทอผ้ายกมุกลายโบราณ อำเภอเสาไห้ กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือบ้านต้นตาล อำเภอเสาไห้ กลุ่มสตรีทอผ้าพื้นเมืองบ้านท่าช้าง อำเภอเสาไห้ กลุ่มสตรีวัดมงคล อำเภอเฉลิมพระเกียรติ กลุ่มทอผ้าจิตรลดา อำเภอเฉลิมพระเกียติ กลุ่มรักษ์ผ้าไทย อำเภอเฉลิมเกียรติ กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองไทยวน อำเภอเมืองสระบุรี กลุ่มวิสาหกิจชุมชนตำบลโคกสว่าง อำเภอเมืองสระบุรี กลุ่มสตรีย้อมผ้าอำเภอดอนพุด อำเภอดอนพุด
และกลุ่มภูมิแฮนดิคราฟท์ อำเภอเมืองสระบุรี

“ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” นับเป็นชื่อที่มีความหมายทรงคุณค่า ถือเป็นเกียรติยศสูงสุดที่จะได้น้อมนำไปเผยแพร่ ตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่พระองค์ทรงห่วงใยประชาชนและได้ออกแบบลายผ้าพระราชทานให้กับผู้ประกอบการกลุ่มทอผ้า ซึ่งมีความหมายแสดงออกอย่างชัดเจนว่าพระองค์ท่าน และพสกนิกรไทยทุกจังหวัดมีความจงรักภักดี และมีจิตใจที่มุ่งมาดปรารถนาที่จะถวายพระพรชัยมงคล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ซึ่งการถวายพระพรชัยมงคลที่ทรงคุณค่ายิ่ง คือ การที่ทุกคนได้สนองพระราชปณิธานที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงรับเป็นธุระในการแบ่งเบาพระราชภาระ ดังพระราชปณิธาน “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานให้ข้าราชบริพาร เมื่อ พ.ศ. 2563 ซึ่งนอกจากพระองค์จะสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง แล้ว ยังเป็นการช่วยสนองพระราชปณิธานอันแรงกล้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงอยากเห็น ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระประสงค์และความปรารถนาอันแรงกล้า โดยใช้งานหัตถศิลป์และภูมิปัญญาไทยอันก่อให้เกิดรายได้และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้พี่น้องประชาชน นำมาซึ่งความสุข

“ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” เป็นลายที่ได้ทรงศึกษาค้นคว้าลวดลายผืนผ้าจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และทรงนำมาออกแบบลายพระราชทานเนื่องในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบ 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยพระราชทานแบบตั้งต้นไว้ 4 ประเภท ได้แก่ ประเภทผ้ากาบบัว ประเภทผ้ายก จก บิด แพรวา ประเภทผ้ามัดหมี่ และประเภทผ้าบาติก ซึ่งสามารถนำลายพระราชทานหลัก ทั้ง 4 ประเภทนี้ไปถักทอผสมผสานกับลวดลายภูมิปัญญาพื้นถิ่นตามความคิดสร้างสรรค์
สำหรับ “ผ้าลายชบาปัตตานี” นี้ เป็นลายที่ทรงศึกษาค้นคว้าลวดลายพื้นถิ่นของจังหวัดปัตตานี โดยทรงนํามาออกแบบผสมผสานกับ “ลายดอกชบา (Hibiscus ไฮบิสคัส) และลายเถาไม้เลื้อย” ที่สื่อถึงวัฒนธรรมพื้นถิ่นของจังหวัดปัตตานี และสร้างสรรค์ขึ้นเป็น “ผ้าลายชบาปัตตานี” พระราชทานเป็นของขวัญแก่ช่างทอผ้าชาวจังหวัดปัตตานี เพื่อสร้างอัตลักษณ์ สืบสาน และต่อยอดภูมิปัญญาและงานหัตถศิลป์พื้นถิ่น ให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดินไทยอย่างยั่งยืน เนื่องในโอกาสที่พระองค์ทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ 36 พรรษา พร้อมทั้งพระราชทานแบบชุดกลางวันและแบบชุดกลางคืน สำหรับสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี รวม 6 แบบ

ดอกชบาเป็นดอกไม้ประจําจังหวัดปัตตานี มีอีกชื่อว่า บุหงารายา คำว่า “บุหงา” แปลว่า ดอกไม้ “รายา” แปลว่า พระราชา บุหงารายา จึงมีความหมายถึง “ดอกไม้ของพระราชา” ลายเถาไม้เลื้อยมาจากลายฉลุของช่องลมจากวังเจ้าเมืองยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2438 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระยาพิพิธเสนามาตยาธิบดีศรีสุรสงคราม เจ้าประเทศราชเมืองยะหริ่ง ลำดับ 3 ตัวเรือนไม้กึ่งปูน เป็นสถาปัตยกรรมแบบผสมผสานระหว่างศิลปะพื้นเมืองชวาและยุโรป และลายช่องลมหรือมัสยิดรายอฟาฏอนีหรือมัสยิดจะบังติกอเป็นสถาปัตยกรรมไม้แบบมลายูยุคเก่า ตกแต่งด้วยลวดลายสลักและเถาวัลย์พรรณพฤกษา และมีการผสมผสานลายช่องลมรูปทรงเรขาคณิต สร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2388-2399
***************
กฤษฎา สมมาตร
รายงาน

Related posts