ททท.เลือกชุมชนสาวะถีต่อยอดอาหารรับนักท่องเที่ยวพรีเมียมกรุ๊ป

ททท.เลือกชุมชนสาวะถีต่อยอดอาหารรับนักท่องเที่ยวพรีเมียมกรุ๊ป

 

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. เลือกชุมชนสาวะถีเป็นตัวแทนภาคอีสาน ในการพัฒนาต่อยอดดด้านอาหารและขนม เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวพรีเมียมกรุ๊ป เพื่อเชื่อมโยงกับจังหวัดขอนแก่นที่เป็น MICE CITY เมืองประชุมสัมมนา ในขณะที่ตัวแทนชุมชนดีใจ ที่จะทำให้คนรู้จักชุมชนมากขึ้นและสร้างรายได้ให้กับชุมชนในอนาคต

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ร่วมกับบริษัทฟายด์โฟล์ค จำกัด ลงพื้นที่บ้านสาวะถี ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น เพื่อดำเนินกิจกรรมชื่อ “Local co – creation” ร่วมกันออกแบบและพัฒนา

เรื่องนี้ นายเสกสรร ศรีไพรวรรรณ ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานขอนแก่น กล่าวว่า ได้เลือกชุมชนสาวะถี จากตัวเลือกกว่า 90 ชุมชนทั่วภาคอีสาน ชุมชนสาวะถีคือตัวแทนหนึ่งเดียวของภาคอีสานที่ สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เลือกเพื่อพัฒนาต่อยอดเรื่องของอาหาร และขนมในชุมชนเพื่อให้สามารถรองรับกรุ๊ปการท่องเที่ยวที่ทุกซีซั่น เหตุผลที่เลือกเพราะอยู่ไม่ไกลจากเมือง ชุมชนมีความพร้อม และในชุมชนมีอัตลักษณ์ของตนเองที่สามารถเชื่อมโยงกับธุรกิจโรงแรมในเมืองได้ และตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่มาประชุมสัมมนาในเมืองขอนแก่นและอยากจะเที่ยวชุมชนไม่ไกลเมืองมาก สามารถมาเยือน ร่วมรับประทานอาหาร และชมการแสดงของชุมชน

โดยการพัฒนาต่อยอดในครั้งนี้ไม่ได้เปลี่ยนสิ่งที่ชุมชนมี แต่มีการมาออกแบบร่วมกันกับชุมชน เพื่อเติมสิ่งที่ขาด สิ่งที่ยังไม่มี เพื่อให้มันดูดีขึ้น เมนูอาหารท้องถิ่นที่มีอาจจะมีการเพิ่มเติมเล็กน้อย โดยเชฟร้านอาหารชื่อดังของเมืองขอนแก่นมาช่วยชุมชนในการพัฒนาและออกแบบไปด้วยกัน เพื่อจะให้ชุมชนสาวะถีเป็นหมุดหมายอีกแห่งหนึ่งของนักท่องเที่ยวที่จะมาเยือน

ด้าน นางสาวปิยะรัตน์ สุริยะฉาย
ผู้อำนวยการกองสร้างสรรค์สินค้าการท่องเที่ยว กล่าวว่า ปัจจัยการเลือกชุมชนและสินค้ามาสร้างมูลค่าเพิ่มของททท. ได้มีการมองหลายมิติ แต่ปัจจัยสำคัญคือความเข้มแข็งของชุมชน การมีส่วนร่วมของชุมชน ทุกครั้งที่ททท.เข้ามาเราจะเห็นความร่วมมืออย่างดีของพี่น้องในชุมชน เป็นสารตั้งต้นอย่างดีเวลาที่ททท.จะคัดเลือกชุมชนในการดำเนินงาน และปัจจัยต่อมาคือทุนทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต ประวัติความเป็นมา ที่เราจะสร้างสิ่งนี้เป็นจุดสนใจของนักท่องเที่ยว และจะดูว่าชุมชนสาวะถีจะเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเมืองได้ เพราะอยู่ไม่ห่างจากอำเภอเมือง การเดินทางการนำส่งนักท่องเที่ยวมาจะสะดวก การเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวที่นี่ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้นักท่องเที่ยวที่มาจากตัวเมือง โรงแรม หรือพื้นที่ใกล้เคียงจะมาเยือนได้

“การมาสร้างมูลค่าเพิ่มในครั้งนี้เราเน้นไปที่เรื่องอาหาร เพราะจากข้อมูลวิจัยพบว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เวลาไปเที่ยวจะให้ความสำคัญกับเรื่องอาหารการกิน เพราะหนึ่งวันมี 3 มื้อ เรื่องอาหารสามารถนำส่งวัฒนธรรม วิถีชีวิต ต่อไปได้ เพราะอาหารมีเรื่องเล่า อาหารเป็นเรื่องสุขภาพต้องใส่ใจ หลังโควิดคนสนใจสุขภาพมากขึ้นทำให้อาหารเชื่อมโยงกับเรื่องสุขภาพได้ และการเก็บข้อมูลของททท.ในการเที่ยวชุมชนพบว่าเรื่องอาหารได้รับความสนใจสูงมาก จึงเอาเรื่องอาหารมาเป็นจุดขายในการพัฒนาการทำงานในปีนี้ และเชื่อมโยงกับนโยบายของรัฐบาลเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ด้วย”

ด้านนายจักรพงษ์ ชินกระโทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทฟายด์โฟล์ค จำกัด กล่าวว่า ในการมาร่วมทำงานกับชุมชนสาวะถี สิ่งที่เห็นอย่างชัดเจนคือ เห็นหัวใจของคนสาวะถีเรื่องบุคลากรและในฐานะบริษัทของเราเป็นที่ปรึกษาในการมองการพัฒนา เรามอง 3 ปัจจัยคือ คนพร้อม ใจพร้อมอยากทำงาน อันที่สองคือมีทรัพยากรต้นทุนพร้อม อันที่สามคือทัศนคติพูดคุยกันแล้วอยากไปต่อ เราไม่ได้เลือกชุมชนแต่ชุมชนเลือกเราด้วย การที่เรามาทำเรื่องอาหารและจุดเด่นของสาวะถีคือสามารถเป็นตัวแทนของคนอีสานได้ และเราสามารถหยิบจับอะไรมาเพิ่มมูลค่าได้ อย่างเรามีสมุนไพรดีเยอะแยะในชุมชน นำขึ้นมาดัดแปลงกินกับอาหารอื่นเข้าไป หรืออาจจะรื้อฟื้นตำรับตำราอาหารที่เคยหายไป หรือแม้แต่ข้าวต้มหัวหงอกที่บอกว่าภาคอีสานที่ไหนก็มี เราก็หยิบมาเพิ่มมูลค่าด้วยการเปลี่ยนเป็นไส้อื่นเพื่อให้มันอร่อยขึ้น ดูดีขึ้น ซึ่งชุมชนก็ยอมรับและยอมลองผิดลองถูกกับเราได้ และชุมชนยินดีทดลองกับเรานี่คือสิ่งที่เรามองว่าสามารถจับมือพัฒนาไปพร้อมกับชุมชนได้

ด้านนางนงนุช ศิริภูมิ ผู้จัดการบริษัทสินไซโมเดล จำกัด วิสาหกิจเพื่อสังคม ซึ่งเป็นตัวแทนชุมชนสาวะถี กล่าวว่า ยินดีที่ทางททท.และบริษัทฟายโฟล์คได้เลือกชุมชนสาวะถีในการเข้ามาพัฒนาและต่อยอดด้านอาหารเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและจะประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ที่ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มศึกษาดูงานเข้ามาเที่ยวชุมชนมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีที่จะมีคนรู้จักชุมชนสาวะถีมากยิ่งขึ้น และจำให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่ม สามารถพัฒนาฝีมือการทำอาหารโดยเอาพืชผัดสมุนไพรในชุมชนออกมาใช้ประโยชน์ พร้อมกับได้ร่วมกันออกแบบ ตกแต่งจานอาหารให้น่ารับประทานมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะขนมที่เป็นจุดเด่นของชุมชนคือข้าวเขียบหรือข้าวเกรียบนางสุมณฑา ที่วันนี้ได้มีการเอามาลองทำในรูปแบบใหม่ ๆ เช่นทำเป็นรูปทรงแบบถ้วยเพื่อใส่อาหารก็ถือว่าเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชนได้

สำหรับการพัฒนาด้านอาหารในครั้งนี้ ทางโครงการได้เชิญเชฟชื่อดังของเมืองขอนแก่นคือ เชฟจากร้านแก่น KAEN’ Casual Fine Dining แห่งแรกของจังหวัดขอนแก่น ร้านอาหารไทยที่เสิร์ฟอาหารไทยร่วมสมัย และไม่ลืมหยิบกลิ่นไออาหารอีสานมาผสมผสานได้อย่างลงตัว วัตถุดิบที่ใช้ในร้านถูกคัดสรร มาเป็นอย่างดี โดยมีเชฟไพศาล ชีวินศิริวัฒน์ และ เชฟจิ๊บ-กัญญารัตน์ ถนอมแสง เป็นผู้มาฝึกสอนด้วยตัวเอง.

Related posts