ท่องเที่ยว ม.แม่โจ้ จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “การจัดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและนวัตกรรม” ภายใต้โครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ กิจกรรมการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ รายวิชา พื้นฐานความรู้สำคัญด้านการเกษตร อาหาร สุขภาพ การท่องเที่ยว และนวัตกรรมบริการ
คณะพัฒนาการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “การจัดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและนวัตกรรม” ภายใต้โครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ กิจกรรมการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ รายวิชา พื้นฐานความรู้สำคัญด้านการเกษตร อาหาร สุขภาพ การท่องเที่ยว และนวัตกรรมบริการ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พาวิน มะโนชัย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นประธานในพิธีเปิด และอาจารย์ ดร.กีรติ ตระการศิริวานิช คณบดีคณะพัฒนาการท่องเที่ยว หัวหน้าโครงการ ได้แนะนำรายละเอียดของกิจกรรมที่จะจัดขึ้นในตลอดระยะเวลา 4 เดือน
พร้อมกันนี้อาจารย์ ดร.กีรติ ตระการศิริวานิช คณบดีคณะพัฒนาการท่องเที่ยว หัวหน้าโครงการ และรองศาสตราจารย์ ดร.อัครพงศ์ อั้นทอง ได้เสวนาให้ความรู้ เรื่อง “ศิลปวิทยาการอาหาร (Gastronomy) ที่เป็นมากกว่าความอร่อยและความสวยงาม” ในช่วงบ่ายเสวนาให้ความรู้เรื่อง “สถานการณ์และแนวโน้มการท่องเที่ยวเชียงใหม่ : ในวันที่ AI มีบทบาทกับการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น” เมื่อวันที่ 3-4 กุมภาพันธ์ 2567 ณ Co-working space ชั้น 2 อาคารพัฒนาวิสัยทัศน์ฯ มหาวิทยาลัยแม่โจ้
อาจารย์ ดร.กีรติ ตระการศิริวานิช คณบดีคณะพัฒนาการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “การจัดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและนวัตกรรม” มีเนื้อหาครอบคลุมการวิเคราะห์เพื่อศึกษาพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของนักท่องเที่ยวในสังคมโลกสมัยใหม่ การพัฒนาทักษะด้านการคิดเชิงสร้างสรรค์ การให้ความรู้ ความเข้าใจในหลักการการส่งเสริมสุขภาวะทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม การสรรสร้างเมนูอาหารบนพื้นฐานความแตกต่างของพื้นที่ สามารถขับเน้นความเป็นเอกลักษณ์ อัตลักษณ์เฉพาะถิ่นควบคู่ไปกับการส่งมอบคุณค่าทางโภชนาการให้แก่ผู้บริโภคซึ่งก็คือนักท่องเที่ยว ตลอดจนการทบทวนและต่อยอดองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการโปรแกรมกิจกรรมการท่องเที่ยว การดำเนินงานด้านการตลาดที่ทันสมัย หลักสูตรการจัดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและนวัตกรรม จึงเป็นหลักสูตรที่สามารถสร้างบุคลากรทางการท่องเที่ยวให้เป็นผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม สามารถสนองตอบต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป
โดยมุ่งเน้นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่จะสามารถพลิกฟื้นสร้างการเปลี่ยนแปลงในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ผู้ที่จบการศึกษาจากหลักสูตรดังกล่าวจะเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในตัวแปรสำคัญของภาคธุรกิจการท่องเที่ยว เข้าใจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะคุณภาพแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยวสมัยใหม่ เป็นผู้ที่ผ่านกระบวนการ Up-skilled Re-skilled พร้อมต่อการทำงานเพื่อพัฒนาภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ เมื่อสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรแล้ว ผู้เรียนจะต้องนำเสนอผลการเรียนรู้ต่อสาธารณชนเพื่อให้ได้ข้อคิดเห็นในการพัฒนาธุรกิจเพิ่มเติม อีกทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายให้กับกลุ่มผู้ประกอบการที่อาจมีความสนใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่เป็นผลงานการเรียนรู้ของผู้ผ่านการฝึกอบรมของหลักสูตรต่อไป
นภาพร/เชียงใหม่