ฉะเชิงเทรา-กรมทางหลวงชนบท สรุปผลรับฟังความคิดเห็นประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดเส้นทางบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ
วันนี้ (11 มกราคม 2567) เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา
กรมทางหลวงชนบท ได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน ครั้งที่ 4 โครงการศึกษาความเหมาะสมโครงข่ายทางหลวงชนบทเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ,
จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาทั้งหมดของโครงการ พร้อมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ
จากทุกภาคส่วน โดยได้รับเกียรติจาก นายกำพล สิริรัตตนนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา
เป็นประธานเปิดการประชุมฯ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมการประชุม
ปัจจุบันโครงข่ายทางหลวงของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ และ
จังหวัดใกล้เคียง โดยเฉพาะบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิและทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 (ถนนบางนา-ตราด)
เกิดปัญหาจราจรติดขัดเป็นอย่างมาก กรมทางหลวงชนบท จึงเห็นควรพัฒนาโครงข่ายการเดินทางทางหลวงชนบท
ให้สมบูรณ์ด้วยการสร้างทางเชื่อม (Missing Link) ระหว่างโครงข่ายเดิมที่ศึกษาทั้ง 4 โครงการ เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรของบริเวณพื้นที่ดังกล่าว ดังนี้
1. โครงการถนนเชื่อมต่อทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3268 (ถนนเทพารักษ์) กับทางหลวงหมายเลข 34
(ถนนบางนา-ตราด) อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ
2. โครงการถนนสายประชาราษฏร์อุทิศ – ถนนรัตนโกสินทร์ 200 ปี จังหวัดสมุทรปราการ
3. โครงการถนน ทล.1 – ทล.3 จังหวัดสระบุรี, ปทุมธานี , ฉะเชิงเทรา, กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ
4. โครงข่ายทางสนับสนุนการเชื่อมต่อระบบขนส่งหลักของประเทศช่วงจังหวัดสมุทรสาคร – จังหวัดสมุทรปราการ (สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณอำเภอพระสมุทรเจดีย์จังหวัดสมุทรปราการ และถนนเชื่อมต่อ)
โดยการจัดประชุมในครั้งนี้ บริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ ได้นำเสนอสรุปผลการศึกษาโครงการ โดยมีรายละเอียดต่างๆ ดังนี้ สำหรับบริเวณพื้นที่ศึกษาโครงการ ประกอบด้วยพื้นที่ศึกษา 2 ช่วง ดังนี้
ช่วงที่ 1 เป็นการเชื่อมต่อโครงการถนนเชื่อมต่อทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3268 (ถนนเทพารักษ์)
กับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 (ถนนบางนา – ตราด) อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ถึงโครงการถนนสายประชาราษฎร์อุทิศ – ถนนรัตนโกสินทร์ 200 ปี จังหวัดสมุทรปราการ โดยแนวเส้นทางเลือกโครงการใน ช่วงที่ 1 จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้ ส่วนที่ 1 มีจุดเริ่มต้นถนนโครงการจากแนวถนนผังเมือง ง1 จนถึงแนวเส้นทางเชื่อมถนนผังเมือง ง1 กับแนวเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างทางคู่ขนานของทางหลวงพิเศษ หมายเลข 9 มีระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร และแนวเส้นทางที่ 1-1 โดยเชื่อมต่อระหว่างทางคู่ขนานของทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 กับโครงการถนนเชื่อมต่อทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3268 (ถนนเทพารักษ์) ถึงทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 (ถนนบางนา – ตราด) อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ มีระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ส่วนที่ 2 คือ แนวเส้นทางที่ 1-2 มีจุดเริ่มต้นเป็นการเชื่อมต่อระหว่างโครงการถนนเชื่อมต่อทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3268 (ถนนเทพารักษ์) ถึงทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 (ถนนบางนา – ตราด) อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ กับโครงการถนนสายประชาราษฎร์อุทิศ – ถนนรัตนโกสินทร์ 200 ปี จังหวัดสมุทรปราการ มีระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร โดยระหว่างทางจะยกระดับข้ามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3256 (ถนนกิ่งแก้ว) และยกระดับข้ามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 (ถนนบางนา – ตราด)
ช่วงที่ 2 จะเป็นพื้นที่ต่อเนื่องของจังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดฉะเชิงเทราที่อยู่ทางด้านเหนือของถนน
บางนา – ตราด ระหว่างถนนรัตนโกสินทร์ 200 ปี กับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 314 โดยแนวเส้นทางโครงการของบริเวณนี้คือ เชื่อมต่อระหว่างโครงการถนนสายประชาราษฎร์อุทิศ – ถนนรัตนโกสินทร์ 200 ปี จังหวัดสมุทรปราการ กับโครงการถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 – ถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 จังหวัดสระบุรี, ปทุมธานี, ฉะเชิงเทรา, กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ รวมไปถึงการเชื่อมต่อไปยังทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 314 จังหวัดฉะเชิงเทรา
โดยแนวเส้นทางจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน มีระยะทางประมาณ 19 กิโลเมตร โดย ส่วนที่ 1 คือ แนวเส้นทางที่ 2-1
ที่จุดสิ้นสุดของโครงการถนนสายประชาราษฎร์อุทิศ – ถนนรัตนโกสินทร์ 200 ปี โดยแนวเส้นทางเลือกไปบรรจบเข้ากับแนวเส้นทางของโครงการถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 – ถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 และวิ่งไปตามแนวเส้นทางของโครงการถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 – ถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 ซึ่งจะยกระดับข้ามทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และแนวเส้นทางจะตัดกับทางหลวงชนบทสาย สป.5004 เพื่อบรรจบเข้ากับทางหลวงชนบทสาย ฉช.2004
ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของแนวเส้นทางที่ 2-1 และ ส่วนที่ 2 คือ แนวเส้นทางที่ 2-2 โดยมีจุดเริ่มต้นที่ทางหลวงชนบทสาย
ฉช.2004 โดยแนวเส้นทางจะมุ่งไปทางทิศตะวันออกเฉียงลงด้านใต้เล็กน้อย เพื่อบรรจบเข้ากับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 314
โดยรูปแบบถนนของโครงการ ได้ออกแบบเบื้องต้นเป็นถนนขนาด 4 – 6 ช่องจราจร (ไป – กลับ) โดยพิจารณาได้ 2 รูปแบบ ดังนี้ 1.รูปแบบเกาะกลางถนนเป็นเกาะยก (Raised Median) สำหรับเขตทาง 30 เมตร ในบริเวณพื้นที่ชุมชนเขตในเมือง เป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร ช่องจราจร ขนาด 3.50 เมตร ซึ่งสามารถขยายเป็นขนาด 6 ช่องจราจรได้ในอนาคต 2.รูปแบบเกาะกลางถนนเป็นเกาะกลางคอนกรีต (Concrete Barrier) สำหรับเขตทาง
40 เมตร ในบริเวณนอกพื้นที่ชุมชน เป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร ช่องจราจร ขนาด 3.50 เมตร ซึ่งสามารถขยายเป็น ขนาด 6 ช่องจราจรได้ในอนาคต ทั้งนี้ได้ออกแบบรูปแบบทางแยกของโครงการตามความเหมาะสมของปริมาณจราจรและสภาพพื้นที่บริเวณนั้นๆ โดยแบ่งเป็น ทางแยกระดับพื้นดิน จำนวน 11 แห่ง และทางแยกต่างระดับ จำนวน 6 แห่ง
นอกจากนี้ บริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ ได้ดำเนินการศึกษา และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น
ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ ครอบคลุมทุกกิจกรรมการก่อสร้าง พร้อมทั้งกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรอบโครงการให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด
ภายหลังการประชุมครั้งนี้ กรมทางหลวงชนบท จะรวบรวมข้อมูลความคิดเห็น และข้อเสนอแนะ
จากทุกภาคส่วนนำมาพิจารณาประกอบการจัดทำรายงานสรุปผลการศึกษาเพื่อให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ต่อไปและ
ให้ เกิดผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด โดยผู้สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าและรายละเอียดของโครงการฯ ได้ 2 ช่องทาง ได้แก่ 1.เว็บไซต์ www.ทช-แก้ไขรอบสุวรรณภูมิ.com 2.Line Official : @363zttff (ทชแก้ไขรอบสุวรรณภูมิ)