กัลฟ์ ชูศูนย์การเรียนรู้เกษตรและแปลงนาสาธิต โรงไฟฟ้าหนองแซง สู่ต้นแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน พร้อมส่งเสริมวัฒนธรรมไทยดั้งเดิมผ่านกิจกรรม “กัลฟ์สืบสานวิถีชาวนาไทย ร่วมใจลงแขกเกี่ยวข้าว”
เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) นำโดย นายธนญ ตันติสุนทร (ที่ 5 จากซ้าย) รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจระบบโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ พร้อมด้วย นางสาวญาณิศา วัฒนคำนวณ (ที่ 4 จากซ้าย) ผู้อำนวยการด้านการบริหารสายงานสื่อสารองค์กร จัดกิจกรรม “สืบสานวิถีชาวนาไทย ร่วมใจลงแขกเกี่ยวข้าว” โดยมี นายดุรงค์ฤทธิ์ ศิริวัฒนพันธ์ (ที่ 6 จากซ้าย) ปลัดจังหวัดสระบุรี เป็นประธานในพิธี ณ ศูนย์การเรียนรู้เกษตรและแปลงนาสาธิต โรงไฟฟ้าหนองแซง จ.สระบุรี
การลงแขกเกี่ยวข้าวถือได้ว่าเป็นประเพณีที่สืบต่อกันมาแต่โบราณและยังเป็นวัฒนธรรมซึ่งสะท้อนถึงวิถีชีวิตของชาวนาไทยที่มีความผูกพันกับธรรมชาติ โดย บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เล็งเห็นถึงความสำคัญของประเพณีทรงคุณค่านี้ จึงได้จัดกิจกรรม “กัลฟ์สืบสานวิถีชาวนาไทย ร่วมใจลงแขกเกี่ยวข้าว” ณ ศูนย์การเรียนรู้เกษตร และแปลงนาสาธิต โรงไฟฟ้าหนองแซง จ.สระบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์ค้นคว้าและเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมทางการเกษตร และยังเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่าชุมชนกับภาคอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเกื้อกูลกัน นอกจากนี้ยังมีแผนพัฒนาเป็นโครงการต้นแบบของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อสร้างวิถีเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนและขยายองค์ความรู้สู่เกษตรกรทั่วทุกภูมิภาคต่อไป
นอกจากพิธีเกี่ยวข้าวแล้ว ภายในงานยังมีการนำผลผลิตที่ได้จากการเก็บเกี่ยว มาสาธิตวิธีการแปรรูปเป็นอาหารเพื่อเพิ่มมูลค่า อาทิ วิธีการทำข้าวจี่ไข่ อาหารพื้นบ้านของภาคอีสานและภาคเหนือซึ่งใช้ข้าวเหนียวเขี้ยวงูและไข่จากฟาร์มไก่ไข่ภายในบริเวณศูนย์การเรียนรู้ฯ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ร่วมงานได้นำแนวคิดไปปรับใช้ต่อยอดและพัฒนาเป็นอาชีพเพื่อสร้างรายได้ต่อไป นอกจากนี้ยังมีการนำผลิตภัณฑ์จากข้าวอีกหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งเป็นผลผลิตบางส่วนจากแปลงนาซึ่งได้เก็บเกี่ยวในช่วงฤดูกาลก่อนหน้านี้ นำมาทำเมนูอาหารสำหรับผู้ร่วมงาน ไม่ว่าจะเป็น ไอศกรีมข้าวหอมจากข้าวกล้องมรกต ข้าวเม่าจากข้าวเหนียวเขี้ยวงู และซีเรียลจากข้าวไรซ์เบอร์รี่
นายธนญ ตันติสุนทร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจระบบโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ กล่าวว่า “ตั้งแต่เริ่มการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหนองแซง กัลฟ์ก็ได้เล็งเห็นแล้วว่าพื้นที่โดยรอบส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม จึงมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้โรงไฟฟ้าและวิถีเกษตรชุมชนอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน เป็นจุดเริ่มต้นของการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เกษตรและแปลงนาสาธิต เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และโครงการต้นแบบในการทำเกษตรอินทรีย์ โดยตลอดระยะเวลากว่า 8 ปีที่ได้ดำเนินโครงการมา มีผู้เข้ามาศึกษาดูงานที่ไม่ใช่เพียงเกษตรกรในชุมชนโดยรอบเท่านั้น แต่ยังมีทั้งนักเรียน นักศึกษา หน่วยงานราชการจากที่ต่างๆ มาเยี่ยมชมอย่างต่อเนื่อง โดยกัลฟ์ก็พยายามหาแนวทางที่ดีขึ้นและพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด
โดยมีเป้าหมายอยากให้ศูนย์การเรียนรู้ฯ แห่งนี้เป็นต้นแบบของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่มีการวางแผนและออกแบบให้นำทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ รวมถึงสร้างคุณค่าจากทรัพยากรที่มีให้ได้มากที่สุด และที่สำคัญจะต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันผลกระทบจากปัญหาฝุ่น PM 2.5 เพิ่มสูงขึ้น ทางศูนย์ฯ มีการจัดการแปลงนาที่ลดการสร้างมลภาวะ โดยจะไม่เผาตอข้าวเก่าที่เป็นสาเหตุของการเกิดก๊าซเรือนกระจก แต่เปลี่ยนเป็นการทำนาข้าวตอที่ 2 แทน ซึ่งตอข้าวเก่าจะถูกหมุนเวียนโดยใช้จุลินทรีย์ย่อยเป็นปุ๋ยสำหรับการปลูกข้าวรอบใหม่ ถือเป็นแนวทางปฏิบัติภายในศูนย์การเรียนรู้ฯ ซึ่งสามารถสะท้อนแนวคิด “Zero Waste” หรือการกำจัดขยะให้มีปริมาณน้อยที่สุด จนไม่มีขยะเหลือเป็นมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี และนอกจากนี้กัลฟ์มีแผนที่จะนำพลังงานสะอาดอย่างโซลาร์เซลล์มาใช้ในการบริหารจัดการระบบของศูนย์ฯ อย่างครบวงจรมากขึ้นในอนาคต”
นายดุรงค์ฤทธิ์ ศิริวัฒนพันธ์ ปลัดจังหวัดสระบุรี กล่าวเสริมว่า “ในภาพรวมของจังหวัดสระบุรีส่วนใหญ่ประชาชนจะประกอบอาชีพทางการเกษตรโดยเฉพาะที่ อ.หนองแซง จะมีการทำนาเป็นหลักเนื่องจากมีคลองชลประทาน ซึ่งการทำนาในปัจจุบันเมื่อเก็บเกี่ยวแล้วก็จะมีการเผาตอฟางและสร้างมลพิษในอากาศ แต่ที่กัลฟ์มีการทำแปลงนาสาธิต เพื่อเป็นแนวทางให้ความรู้กับชาวบ้านในเรื่องของการทำนาโดยไม่ต้องมีการเผาฟาง เป็นการทำเกษตรแบบหมุนเวียนที่ได้ผลผลิตไม่ต่างไปจากการทำนาโดยใช้เครื่องจักร และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ต้องขอบคุณบริษัทกัลฟ์ที่ให้ความสำคัญกับวิถีชุมชน และได้ริเริ่มโครงการศูนย์การเรียนรู้เกษตรให้กับชุมชนทั้งในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าและประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ขอเชิญชวนผู้ที่สนใจการทำเกษตรแบบยั่งยืนก็สามารถเข้ามาศึกษาดูงานได้ที่ศูนย์การเรียนรู้เกษตรและแปลงนาสาธิต โรงไฟฟ้าหนองแซง จ.สระบุรี”
นายธนากิจ กายพรมราช ผู้จัดการโรงไฟฟ้าหนองแซง กล่าวว่า “ศูนย์การเรียนรู้เกษตรและแปลงนาสาธิต ตั้งอยู่บนพื้นที่ 42 ไร่ ของโรงไฟฟ้าหนองแซง โดยตอนนี้พื้นที่หลักจะเป็นที่นาสำหรับปลูกข้าว เปรียบเสมือนห้องทดลองในการปลูกข้าวหลากหลายสายพันธุ์ เพื่อเป็นแนวทางให้ชาวบ้านสามารถนำไปต่อยอดในพื้นที่นาของตัวเองได้ และนอกจากนี้มีการปลูกพืชผักสวนครัว และเลี้ยงสัตว์ ที่สามารถนำไปแปรรูปต่อเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ ซึ่งทางศูนย์การเรียนรู้ฯ ตั้งเป้าที่จะผลักดันวิถีเกษตรอินทรีย์ผ่านการอบรมให้กับชุมชน โดยที่ผ่านมาได้มีการให้ความรู้ในหลายเรื่อง เช่น การเลี้ยงไส้เดือนและทำปุ๋ยมูลไส้เดือนใช้ในการปลูกพืชผักสวนครัว, การเลี้ยงหนอนแมลงทหารดำ ที่จะใช้วิธีการนำปลายข้าวและเศษพืชผัก มาเป็นอาหารให้หนอน และนำหนอนระยะดักแด้ มาเป็นอาหารไก่ไข่ภายในศูนย์การเรียนรู้ฯ ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในการนำร่องสู่การทำเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจรและสร้างความยั่งยืนให้กับวิถีเกษตรชุมชนอย่างแท้จริง”