ม.บูรพา เปิดโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตฮ่อยจ๊อปูม้า แก่สมาชิกธนาคารปูม้ากลุ่มประมงเรือเล็กเก้ายอด จ.ระยอง และชุมชนที่สนใจ

ม.บูรพา เปิดโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตฮ่อยจ๊อปูม้า แก่สมาชิกธนาคารปูม้ากลุ่มประมงเรือเล็กเก้ายอด จ.ระยอง และชุมชนที่สนใจ

เมื่อวันที่ 29 ก.ย.ที่ธนาคารปูม้ากลุ่มประมงเรือเล็กเก้ายอด ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.ระยอง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สวามินี ธีระวุฒิ ภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา คณะนักวิจัยภายใต้โครงการขยายผลธนาคารปูม้า เพื่อคืนปูม้าสู่ทะเลไทยร่วมกับสํานักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) เปิดโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตฮ่อยจ๊อปูม้า แก่สมาชิกธนาคารปูม้ากลุ่มประมงเรือเล็กเก้ายอด และชุมชนที่สนใจใน จ.ระยอง เพื่อให้สมาชิกธนาคารปูม้าในจังหวัดระยอง ได้นำเทคโนโลยีการผลิตฮ่อยจ๊อปูม้าไปใช้ในการต่อยอดและยกระดับการดำเนินงานธนาคารปูม้าต่อไป โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จริยาวดี สุริยพันธุ์ เป็นหัวหน้าโครงการ มีว่าที่ร้อยโทประจักษ์ สาธุธรรม ประมงอำเภอเมืองระยอง นางดวงกมล ร่มรื่น ประธานธนาคารปูม้ากลุ่มประมงเรือเล็กเก้ายอด ร่วมกิจกรรม

การจัดตั้งธนาคารปูม้า เป็นกลยุทธ์หนึ่งของแนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากร ที่สนับสนุนการเพิ่มปริมาณปูม้าในธรรมชาติ โดยชุมชนเข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการ ซึ่งในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกระหว่างรอยต่อของ จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง เป็นพื้นที่สำคัญด้านการท่องเที่ยว ประมง และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อยู่ในภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมต่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ และเป็นเป้าหมายหลักในแผนการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ส่งผลให้ชุมชนชายฝั่งต้องปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงบริบทของพื้นที่สังคมและสิ่งแวดล้อมที่ตามมา ดังนั้นกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมการส่งเสริมธนาคารปูม้าบนฐานทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรปูม้าของชุมชนในพื้นที่ จ.ชลบุรี และ จ.ระยองอย่างยั่งยืน โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ดำเนินการขับเคลื่อนให้เกิดกิจกรรมต่อเนื่อง โดยการสนับสนุนอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องและการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับธนาคารปูม้า และส่งเสริมให้ชาวประมงอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรม เพื่อตระหนักในการอนุรักษ์เพิ่มทรัพยากรปูม้าในธรรมชาติ รวมถึงสามารถรับผิดชอบกิจกรรมธนาคารปูม้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ธนาคารปูม้ากลุ่มประมงเรือเล็กเก้ายอด จ.ระยอง เป็นธนาคารหนึ่งที่โครงการวิจัยให้การสนับสนุนและขับเคลื่อนกิจกรรมเกี่ยวกับธนาคารปูม้า เพื่อการอนุรักษ์เป็นชุมชนที่มีความพร้อมและมีศักยภาพในการยกระดับไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ปูม้า เพื่อเสริมศักยภาพให้แก่สมาชิกธนาคารปูม้า และเป็นธนาคารปูม้าต้นแบบที่เครือข่ายสมาชิกธนาคารปูม้าแห่งอื่นๆ ได้ศึกษาเรียนรู้ จึงเป็นที่มาของการจัดโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตฮ่อยจ๊อปูม้า เพื่อให้สมาชิกธนาคารปูม้าใน จ.ระยอง ได้นำเทคโนโลยีการผลิตฮ่อยจ๊อปูม้าไปใช้ในการต่อยอดและยกระดับการดำเนินงานธนาคารปูม้าต่อไป โดยมีกิจกรรมหลักในการถ่ายทอดความรู้ ดังนี้ 1)หลักการพัฒนาผลิตภัณฑ์ฮ่อยจ๊อปูม้า 2)การเตรียมไส้ฮ่อยจ๊อปูม้า 3)กระบวนการห่อฮ่อยจ๊อปูม้า และ 4)การทอดและการพักย่อยจ๊อปูม้าก่อนบรรจุภัณฑ์.

 

Related posts