ตากชูจุดเด่นการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม บูรณะซ่อมแซมโบราณสถานวัดเกาะตาเถียรอายุกว่า 100 ปี พร้อมเชื่อมโยงท่องเที่ยวชุมชน

ตากชูจุดเด่นการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม บูรณะซ่อมแซมโบราณสถานวัดเกาะตาเถียรอายุกว่า 100 ปี พร้อมเชื่อมโยงท่องเที่ยวชุมชน
จังหวัดตากชูจุดเด่นการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม บูรณะซ่อมแซมโบราณสถานอายุกว่า 100 ปี “วัดเกาะตาเถียร” ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ยังคงอัตลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิม ทั้งหอไตรกลางน้ํา และหอสวดมนต์ พร้อมเชื่อมโยงการท่องเที่ยวไปยังชุมชนยลวิถีบ้านไม้งาม และเส้นทางท่องเที่ยวอื่นๆ อีกหลายเส้นทางในจังหวัด
นายสวนิต สุริยกุล ณ อยุธยา รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เปิดเผยภายหลังการจัดงานส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมจังหวัดตาก ภายใต้โครงการบูรณะซ่อมแซมโบราณสถานวัดเกาะตาเถียรเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดตาก ระหว่างวันที่ 15 – 17 ก.ค.66 ที่ผ่านมา ณ วัดเกาะตาเถียร ตําบลไม้งาม อําเภอเมืองตาก จังหวัดตาก ว่าได้รับความสนใจจากประชาชนและนักท่องเที่ยว ทั้งในจังหวัดและพื้นที่ใกล้เคียงเข้าร่วมชมงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งจังหวัดตากนั้นถือเป็นจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย และมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวสูง ทั้งการท่องเที่ยวธรรมชาติ การท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์
โดยมีโบราณสถานที่ตั้งในอยู่ในชุมชนต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งจากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้การทํานุบํารุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม มีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนไทยทั่วทุกภูมิภาค และมีการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมจากรู่นสู่รุ่น เพื่อแสดงให้เห็นถึงขนบธรรมเนียม ประเพณี วิถีชีวิตอันดีงามดั้งเดิม และความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนในท้องถิ่น ทางจังหวัดจึงได้ดำเนินนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมจังหวัดตากขึ้น ภายใต้โครงการบูรณะซ่อมแซมโบราณสถานวัดเกาะตาเถียรเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดตาก
“โบราณสถานวัดเกาะตาเถียร ตําบลไม้งาม อําเภอเมืองตาก จังหวัดตาก นับเป็นแหล่งโบราณสถานที่ทรงคุณค่าที่สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยเฉพาะในส่วนของหอไตรกลางน้ำ ที่มีอายุมากกว่า 120 ปี และหอสวดมนต์ที่มีอายุมากกว่า 109 ปี ถือเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมที่สามารถนํามาต่อยอด เพื่อสร้างโอกาส สร้างรายได้ในเชิงการท่องเที่ยวได้ โดยแต่เดิมก่อนที่จะมีการบูรณะซ่อมแซมนั้น พบว่าโครงสร้างของสะพานที่จะเข้าไปยังหอไตร ชํารุดเสียหายเกือบทั้งหมด ส่วนหอสวดมนต์ มีความชํารุดเสียหายบริเวณบันได ระเบียงทางเดิน และเสาอาคาร ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้จะเกิดความเสียหายต่อโบราณสถาน และอาจเกิดอันตรายได้ ทางจังหวัดจึงเห็นสมควรให้มีการบูรณะซ่อมแซม และอนุรักษ์ส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของจังหวัดตาก โดยได้มอบหมายให้สํานักงานวัฒนธรรมจังหวัดตาก เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดําเนินการ”
ด้าน นางประสพสุข กันภัย วัฒนธรรมจังหวัดตาก กล่าวเสริมว่า จากการจัดงานส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมจังหวัดตาก ภายใต้โครงการบูรณะซ่อมแซมโบราณสถานวัดเกาะตาเถียรเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดตาก ระหว่างวันที่ 15 – 17 ก.ค.66 ที่ผ่านมา ณ วัดเกาะตาเถียร ตําบลไม้งาม อําเภอเมืองตาก จังหวัดตาก นั้น พบว่าได้รับความร่วมมือจากชุมชน และสามารถสร้างความสนใจให้แก่ประชาชนในพื้นที่ และนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี ทำให้เกิดการเรียนรู้ และเข้าใจบริบทของสังคมไทยผ่านแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ รวมทั้งทำให้เกิดการต่อยอดเชื่อมโยงไปสู่การท่องเที่ยวชุมชนในพื้นที่อีกด้วยโดยการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณโครงการตามแผนปฏิบัติราชการประจําปีของจังหวัดตาก ประจําปีงบประมาณ 2566
และได้รับความร่วมมือในการบูรณาการดําเนินงานจากท่านพระครูประทีปจันทรังษี เจ้าคณะตําบลไม้งาม เจ้าอาวาสวัดเกาะตาเถียร และผู้นําชุมชน ที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาวัด และชุมชน ให้มีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยว และสำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย สํานักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดตาก ในการบูรณะซ่อมแซมโบราณสถานวัดเกาะตาเถียร ได้แก่ สะพานที่เชื่อมหอไตรกลางน้ํา และหอสวดมนต์ จากเดิมที่มีการชํารุดเสียหาย จน ไม่สามารถเข้าเยี่ยมชมโบราณสถานได้ ให้กลับมามีสภาพที่สมบูรณ์ เพื่อให้เด็ก เยาวชน ประชาชน และนักท่องเที่ยวสามารถเข้าเยี่ยมชม และศึกษาแหล่งเรียนรู้โบราณสถานได้ตามปกติ
งานส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมจังหวัดตาก ภายใต้โครงการบูรณะซ่อมแซมโบราณสถานวัดเกาะตาเถียรเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดตาก นอกจากจะเป็นการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ของจังหวัดตากแล้ว ยังเป็นงานที่ส่งเสริมให้ชุมชนและผู้ประกอบการในจังหวัดตากได้มีโอกาสนำเสนอสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชนที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด สู่สายตาของนักท่องเที่ยวและประชาชนที่มาเที่ยวชมงานด้วย อาทิ ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมไทย CPOT เช่น ผลิตภันฑ์ผ้าทอธรรมชาติ ไส้เมี่ยง ข้าวแคบ ยําข้าวเกรียบ ผลิตภัณฑ์จักสานไม้ไผ่ รวมไปถึงสินค้า OTOP และผลิตภัณฑ์ของชุมชนด้วย

Related posts