เพชรบูรณ์-อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดอนุสาวรีย์พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย

เพชรบูรณ์-อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดอนุสาวรีย์พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย

 

วันที่ 23 กรกฏาคม 2566 ณ บริเวณหน้าสำนักงานสหกรณ์จังหวัดเพชรบูรณ์ ตำบลสะเดียง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ประธานในพิธีเปิดอนุสาวรีย์พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย โดยมีนายชัชวาลย์ เบญจสิริวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ นายอนุสรณ์ ศรีนาราง สหกรณ์จังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมด้วย หน่วยงานราชการ ผู้แทนสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดเพชรบูรณ์เข้าร่วมพิธีในครั้งนี้

นางสาวธัญรัศมิ์ ตะโส ประธานสันนิบาตสหกรณ์จังหวัดเพชรบูรณ์ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากขบวนการสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดเพชรบูรณ์ สหกรณ์จังหวัด พร้อมบุคลากรสำนักงานสหกรณ์จังหวัดสหกรณ์จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ประชุมกัน เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565 มีความเห็นพร้องต้องกันให้จัดสร้างพระอนุสาวรีย์ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย เพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงริเริ่มทดลองและจัดตั้งสหกรณ์ขึ้นในประเทศไทยครั้งแรก เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2459 และทรงส่งเสริมให้มีการเผยแพร่ขยายการสหกรณ์ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย เป็นผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศชาติมาจนทุกวันนี้ นับเป็นเวลา 107 ปี จึงร่วมแรงร่วมใจ บริจาคทุนทรัพย์ทั้งสิ้น 859,999 บาท เพื่อสร้างพระอนุสาวรีย์ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทยขึ้น

โดยประดิษฐานไว้บริเวณสำนักงานสหกรณ์จังหวัดเพชรบูรณ์ อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ แห่งนี้ ซึ่งเป็นจุดศูนย์รวมน้ำใจของขบวนการสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดเพชรบูรณ์ และจะได้ใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมวันสำคัญที่เกี่ยวกับการสหกรณ์ สำหรับการดำเนินการจัดสร้าง ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงาน ประกอบด้วยหลายฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายผู้แทนขบวนการสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดเพชรบูรณ์ และฝ่ายบุคลากรสำนักงานสหกรณ์จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้มีการคัดเลือกสถานที่ประดิษฐาน การวางทิศทาง การปรับภูมิทัศน์อย่างถูกต้องและเหมาะสมประติมากรผู้ปั้น คือ โรงหล่อกุลวัฒนา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ และหล่อองค์ด้วยโลหะผสมขนาดเท่าครึ่งพระองค์จริง ฉลองพระองค์เต็มยศ ประทับยืน บนฐานพระอนุสาวรีย์ สง่างาม สมพระเกียรติ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย

ด้านนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ต้องขอชื่นชมต่อขบวนการสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดเพชรบูรณ์ และบุคลากรสำนักงานสหกรณ์จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ได้ตระหนักถึงพระกรุณาธิคุณของพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส) ที่ได้สร้างคุณอนันต์แก่ขบวนการสหกรณ์ไทย โดยใช้วิธีการสหกรณ์ เพื่อแก้ปัญหาความยากจนของคนในชาติ และในโอกาสที่การสหกรณ์ไทย ครบรอบ 107 ปี ในปีพุทธศักราช 2566 ขบวนการสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดเพชรบูรณ์ จึงได้พร้อมใจจัดสร้างพระอนุสาวรีย์ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทยขึ้น ประดิษฐานไว้ ณ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดเพชรบูรณ์แห่งนี้

ด้วยเห็นว่าเป็นสถานที่ที่เหมาะสม และเป็นศูนย์กลางของขบวนการสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ในจังหวัดเพชรบูรณ์ ประกอบกับพระอนุสาวรีย์ฯ แห่งนี้ จะเป็นศูนย์รวมจิตใจของพี่น้องขบวนการสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร และเป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมต่างๆ ที่สำคัญของมวลสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรร และแสดงถึงความกตัญญูต่อผู้มีคุณูปการต่อขบวนการสหกรณ์ เพื่อเทิดพระเกียรติและธำรงไว้ซึ่งเครื่องหมายแห่งคุณงามความดี ที่พระองค์ได้ประกอบกรณียกิจอันเป็นคุณประโยชน์อย่างยิ่งใหญ่ต่อขบวนการสหกรณ์ของไทย


ในโอกาสนี้อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่านโยบายที่เร่งด่วนของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในขณะนี้คือการสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ โดยเฉพาะในกลุ่มสหกรณ์การเกษตรในด้านการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้แก่สมาชิกของสหกรณ์ โดยให้แนวทางการดำเนินงานแก่สหกรณ์การเกษตรทั่วประเทศในเรื่องการส่งเสริมอาชีพ เพราะเราเห็นว่าสมาชิกของสหกรณ์ในปัจจุบันถ้าหากประกอบอาชีพการเกษตรเชิงเดี่ยว ไม่ว่าจะเป็นการทำนา ทำไร่มันหรือพืชไร่อย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว โอกาสที่สมาชิกจะมีรายได้พอเพียงกับการดำรงชีวิตค่อนข้างที่จะเป็นไปลำบาก ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์จึงเข้าไปดำเนินการส่งเสริมอาชีพหลายๆด้าน

ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืชที่มีรายได้เป็นรายวันหรือการเลี้ยงปลา เลี้ยงสัตว์ที่เป็นการสร้างรายได้รายเดือน รวมทั้งส่งเสริมการปลูกไม้ผลเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เป็นรายปี เพื่อทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาหนี้สินที่มีการค้างชำระเป็นการคลี่คลายปัญหาให้กับสมาชิกสหกรณ์การเกษตรในแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ทางกรมยังได้ส่งเสริมการสร้างแหล่งน้ำในไร่นาให้แก่สมาชิก โดยใช้เงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ให้กู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อให้สมาชิกสหกรณ์ได้มีแหล่งน้ำในการทำการเกษตร ซึ่งจากแนวนโยบายดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลที่ดีแก่สมาชิกสหกรณ์มีความมั่นคงในอาชีพ มีช่องทางใหม่ๆในการเพิ่มรายได้ และแก้ไขปัญหาหนี้สินค้างชำระของเกษตรกรได้ต่อไป

Related posts