ไออาร์พีซี เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นขยายกำลังการผลิตโพรพิลีนเพิ่ม 180,000 ตัน/ปี เพื่อผลิตเม็ดพลาสติกโพลีโพรพิลีนนำไปใช้ประโยชน์เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ
เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2566 ที่ห้องประชุมวิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี ต.เชิงเนิน อ.เมือง จ.ระยอง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุพจน์ ต่ออาจหาญ รอง ผวจ.ระยอง เป็นประธานเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของ ปชช.ในพื้นที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อโครงการขยายกำลังการผลิตโพรพิลีน ซึ่งโครงการตั้งอยู่ในเขตประกอบการไออาร์พีซี พื้นที่ 3.92 ไร่ ต.เชิงเนิน อ.เมือง จ.ระยอง เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2556 ปัจจุบันโครงการจัดเป็นอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต้นที่มีสารโพรพิลีนเป็นผลิตภัณฑ์หลัก เพื่อผลิตเป็นเม็ดพลาสติก นำไปใช้ประโยชน์เป็นผลิตภัณฑ์ เช่น แผ่นฟิล์ม อุปกรณ์สำนักงาน ส่วนประกอบหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ และส่วนประกอบชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ เป็นต้น ซึ่งกำลังการผลิตปัจจุบัน มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 100,000 ตัน/ปี หรือ 300 ตัน/วัน โดยโครงการมีแนวทางที่จะขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจาก 100,000 ตัน เป็น 180,000 ตัน/ปี
เพิ่มขึ้น 80,000 ตัน/ปี หรือเพิ่มจาก 300 ตัน เป็น 493.15 ตัน/วัน ซึ่งมีแนวทางในการขยายกำลังการผลิตใน 3 ส่วน คือ 1.เพิ่มแหล่งรับวัตถุดิบใหม่ ที่มีสารบิวทีนเป็นองค์ประกอบมากกว่าแหล่งวัตถุดิบเดิม ทำให้วัตถุดิบสามารถเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ได้เพิ่มมากขึ้น 2.เพิ่มอัตราการป้อนวัตถุดิบในหน่วยผลิตเดิม ให้สอดคล้องกับความสามารถสูงสุดของเครื่องจักร โดยไม่มีการปรับปรุงหรือติดตั้งเครื่องจักรเพิ่มเติม และ 3.เพิ่มวันดำเนินการต่อปีจาก 333 วัน/ปี เป็น 365 วัน/ปี เพื่อให้สอดคล้องกับประสบการณ์การตรวจสอบอุปกรณ์ เครื่องจักรตามแผนการบำรุงรักษาของโครงการ โดยยังคงแผนการซ่อมบำรุงในเชิงป้องกันเต็มประสิทธิภาพเช่นเดิม ทุก 5-6 ปี โดยการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของ ปชช.ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียดังกล่าว ลักษณะโครงการเข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EHIA) ตามประกาศกระทรวง
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และขอความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ (สผ.) ทั้งนี้ตามแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดทำรายงานฯ ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากร(สผ.)กำหนดให้มีการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อกระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการอย่างน้อย จำนวน 3 ครั้ง เพื่อนำความคิดเห็นมาประกอบการจัดทำรายงานฯ ของโครงการ โดยครั้งที่ 1 เพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางการจัดทำรายงานฯ ครั้งที่ 2 รับฟังความคิดเห็นในขั้นตอนการประเมินและจัดทำรายงานฯ และครั้งที่ 3 เพื่อทบทวนร่างรายงานฯ และมาตรการป้องกัน แก้ไข และติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ในวันนี้เป็นการรับฟังความคิดเห็นฯ ครั้งที่ 1 เพื่อนำความคิดเห็นที่ได้ไปปรับปรุงขอบเขตและแนวทางการจัดทำรายงานฯ ให้มีความสอดคล้องกับข้อเสนอแนะและมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป.