เกิดเหตุเพลิงไหม้บ่อทิ้งขยะของเทศบาลตำบลโนนบุรี อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ วอด 30 ไร่ ในขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ สั่งการฝ่ายปกครอง สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งควบคุม เพลิงและมลพิษ ก่อนฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือค่า PM 2.5 จะแผ่ปกคลุมทั้งอำเภอ และส่งผลกระทบต่อสุขภาพชาวบ้าน ส่วนสาเหตุการเกิดเพลิงไหม้อยู่ในระหว่างการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่
วันที่ 14 มีนาคม 2566 ที่บริเวณบ่อขยะเทศบาลตำบลโนนบุรี อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์ สั่งการให้นายยศวัฒน์ เธียรสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ (ทสจ.) และนายประดิษฐ สุดชาดา ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม ทสจ.กาฬสินธุ์ ร่วมกับนางสาวแววตา นระทัด นายอำเภอสหัสขันธ์ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ลงพื้นที่ติดตามการควบคุมเปลวเพลิง ที่เกิดการลุกไหม้บ่อขยะ พร้อมร่วมประชุมประเมินสถานการณ์และแนวทางการแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว โดยล่าสุดเจ้าหน้าที่ดับเพลิงสามารถควบคุมเปลวเพลิงไว้ได้ แต่ยังอยู่ในช่วงที่ต้องเฝ้าระวังการปะทุของเชื้อไฟ เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนแล้ง มีกระแสลมพัดตลอดเวลา ประกอบกับยังมีเชื้อเพลิงประเภทพลาสติกกองสุมอยู่อีกเป็นจำนวนมาก ที่อาจจะเกิดสะเก็ดไฟลุกไหม้ได้
นางสาวแววตา นระทัด นายอำเภอสหัสขันธ์ กล่าวว่าเพลิงไหม้บ่อขยะดังกล่าว เกิดขึ้นในพื้นที่บ่อขยะประมาณ 30 ไร่ ถูกเปลวเพลิงเผาผลาญกว่า 90 % ซึ่งเป็นบ่อขยะของเทศบาลตำบลโนนบุรี แต่อยู่ในเขตพื้นที่ ต.โนนน้ำเกลี้ยง โดยเหตุเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 10.00 น.ของวันที่ 12 มี.ค.66 ที่ผ่านมา หลังได้รับแจ้งเหตุไฟไหม้ ได้ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน อ.สหัสขันธ์ทั้ง 8 แห่ง รวมทั้ง ปภ.กาฬสินธุ์ และอบจ.กาฬสินธุ์ เพื่อนำรถดับเพลิงพร้อมเจ้าหน้าที่มาควบคุมเปลวเพลิง แต่เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อน แล้ง ประกอบกับขยะส่วนใหญ่เป็นพลาสติก และระยะทางที่รถดับเพลิงจะเข้ามาถึงจุดเกิดเหตุค่อนข้างไกล เปลวไฟจึงโหมไหม้บ่อขยะอย่างรวดเร็ว
นางสาวแววตากล่าวอีกว่า หลังเกิดเหตุทางอำเภอได้ร่วมกับสาธารณสุข อ.สหัสขันธ์ ผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ อสม. เร่งระดมแจกแมสให้กับประชาชน 4 หมู่บ้านที่อยู่บริเวณใกล้เคียงบ่อขยะ เพื่อป้องกันอันตรายจากมลพิษหรือฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) อย่างไรก็ตาม สำหรับค่ามลพิษยังไม่ถึงอันตรายต่อสุขภาพประชาชน แต่ก็ยังคงเฝ้าระวัง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับชาวบ้าน ทั้งนี้ ในส่วนของการควบคุมเปลวเพลิงนั้น ตอนนี้สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ แต่อาจจะบางจุดที่ยังระอุอยู่ และบางจุดปะทุขึ้นมาบ้าง ซึ่งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงยังคงเกาะติดสถานการณ์ คอยสังเกตและระดมฉีดน้ำสะกัดเปลวเพลิงตลอดวัน อย่างไรก็ตาม สำหรับสาเหตุการเกิดเพลิงไหม้บ่อขยะนั้น อยู่ในระหว่างการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่
ขณะที่นายประดิษฐ สุดชาดา ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม ทสจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า จากกรณีเกิดไฟไหม้บ่อขยะ และอยู่ระหว่างการควบคุม ซึ่งเป็นการระดมฉีดน้ำปูพรมสกัดเปลวเพลิงที่มีบางส่วนคุกรุ่นอยู่ เนื่องจากบ่อขยะเกิดการสะสมของพลาสติกที่เป็นเชื้อเพลิงมาหลายปี ซึ่งคาดว่าสถานการณ์น่าจะอยู่สภาพนี้ไปอีกประมาณ 1 สัปดาห์ ทั้งนี้ สำหรับแนวทางการแก้ไข ที่ประชุมได้มีการเสนอขุดเจาะบาดาลรอบบ่อขยะ เพื่อนำน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ในการฉีดพื้นที่ไฟไหม้ให้เปียกชุ่ม เป็นการยกระดับการดับไฟและกลุ่มควันให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เนื่องจากรถดับเพลิงที่นำน้ำมาดับไฟครั้งนี้ ต้องเดินทางไปรับน้ำระยะทางไกลถึง 7 กม. ทำให้เกิดความล่าช้า ทั้งนี้จะได้ประสานทาง อบจ.กาฬสินธุ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาดำเนินการขุดเจาะบ่อบาดาล ซึ่งน่าจะใช้ระยะเวลาไม่เกิน 3 วันแล้วเสร็จ
นายประดิษฐกล่าวอีกว่า สำหรับเรื่อง PM 2.5 นั้น เมื่อวานได้มีการตรวจค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กบริเวณท้ายลมซึ่งอยู่ใกล้บ่อขยะ พบว่ามีค่าที่สูงเกินมาตรฐานพอสมควร ขณะที่ชุมชนใกล้เคียงมีค่าต่ำกว่ามาตรฐานอยู่มาก แต่ภาพรวมทั่วไปถือไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากนัก แต่สิ่งที่เป็นห่วงก็คือเรื่องของกลิ่นที่ยังมีอยู่ ในระยะนี้จึงขอฝากเตือนไปถึงพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เด็ก วัยชรา ผู้มีโรคประจำตัว ได้ระวังสุขภาพเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม คาดว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในเร็วๆนี้