พิจิตร-งานนี้เป็นเรื่อง ป.ป.ช.จาก 2 จังหวัดผนึกกำลังลงพื้นที่ตรวจแขวงทางหลวงพิจิตรสร้างจุดกลับรถแต่ใช้การได้แค่บางฤดูกาล
ป.ป.ช.พิจิตร-นครสวรรค์ ผนึกกำลังลงพื้นที่ดูจุดกลับรถที่สร้างโดยแขวงทางหลวง
พิจิตร งบ 9 ล้านบาทเศษ แต่ปรากฏว่าระดับถนนอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำในคลอง เห็นแล้วอึ้งช่วงนี้หน้าแล้งน้ำยังท่วม แล้วถ้าฤดูน้ำหลากจะใช้การได้หรืองานนี้ประโยชน์คุ้มค่าเงินภาษีของประชาชนหรือไม่เป็นการก่อสร้างที่สุ่มเสี่ยง ส่วนชาวบ้านบอกว่ารู้อยู่แก่ใจ 1 ปี ถนนใช้ได้ไม่กี่เดือนก็อยากได้แต่วันนี้อยากได้น้ำทำนาปรังเต็มใจยอมแม้น้ำท่วมถนน ส่วนแขวงทางหลวงพิจิตรชี้แจงสร้างถูกต้องตามแบบจะเร่งแก้ไขต่อไป
วันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม 2566 นายวราพงษ์ อินต๊ะโมงค์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดพิจิตร , นายอภินันท์ เรืองประเภท ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดนครสวรรค์ พร้อมด้วยชมรมสตรองจิตพอเพียงภาคประชาชน ได้ร่วมกันลงพื้นที่เพื่อดูจุดกลับรถที่บริเวณถนนสายเอเชีย 117 (นครสวรรค์-พิจิตร) พื้นที่รอยต่อระหว่าง อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ กับ อ.โพทะเล จ.พิจิตร ที่ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 9 ล้านบาทเศษ สร้างเสร็จใช้งานในปีงบประมาณ 2565 ทางกลับรถหรือทางยูเทิร์นดังกล่าว มีระยะทางกว่า 300 เมตร สภาพที่เห็นมีน้ำท่วมขัง ความลึกประมาณ 50-60 เซนติเมตร ระยะทางที่ถูกน้ำท่วมกว่า 80 เมตร รถเล็กไม่สามารถสัญจรผ่านจุดกลับรถได้ ในภาพที่เห็นหลังจากที่เกิดเหตุน้ำท่วมและเป็นข่าวแขวงทางหลวงพิจิตรได้นำกระสอบทรายมากั้นบนแท่งแบริเออร์พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อสูบน้ำออกจากจุดกลับรถหรือทางยูเทิร์นดังกล่าว จึงทำให้ประชาชนบางส่วนไม่สามารถใช้เส้นทางได้และเกิดข้อกังขาว่าการก่อสร้างจุดกลับรถดังกล่าวมีประโยชน์กับประชาชนหรือไม่ เหมาะสมกับงบประมาณในการก่อสร้างมากน้อยเพียงใด
จากการลงพื้นที่ นายวราพงษ์ อินต๊ะโมงค์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดพิจิตร กล่าวถึงความกังวลของประชาชนเกี่ยวกับความคุ้มทุนในการก่อสร้างและการใช้ประโยชน์หรือไม่ รวมถึงจากที่รับฟังข้อมูลจากแขวงทางหลวงพิจิตรและจากชาวบ้านต่างบอกว่าจุดกลับรถหรือจุดยูเทิร์นแห่งนี้ สร้างเสร็จเมื่อปีที่แล้วใช้งานได้จริง แต่ใช้งานได้ไม่ตลอดทั้งปี กล่าวคือช่วงไหนที่กรมชลประทานมีการเติมน้ำเข้ามาในคลองน้ำก็จะท่วมพื้นที่บริเวณดังกล่าวทำให้ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ได้ตลอดทั้งปี ดังนั้นจึงต้องพิจารณาดูที่จุดคุ้มค่า จุดคุ้มทุน ของการก่อสร้างว่าเป็นการดำเนินการด้วยเจตนาเช่นไร ซึ่งได้ให้คำแนะนำแขวงทางหลวงพิจิตรและรับฟังแนวทางแก้ปัญหาแบบยั่งยืนให้ได้ใช้ประโยชน์จากการก่อสร้างให้คุมค่ากับเงินภาษีของประชาชนด้วยแล้วดังกล่าว
ในส่วนของ นายบุญธรรม กะมะเรศ ชาวบ้าน หมู่ 6 ต.ทะนง อ.โพทะเล จ.พิจิตร ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำ กล่าวว่า ตนเองและชาวบ้านมีความพึงพอใจในการแก้ไขปัญหาของแขวงทางหลวงพิจิตรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากถามถึงความต้องการของชาวบ้านในพื้นที่โดยเฉพาะเกษตรกร มีความต้องการใช้น้ำเพื่อการเกษตรเป็นอย่างมาก ส่วนกรณีที่น้ำท่วมจุดกลับรถเป็นปัญหาที่ชาวบ้านสามารถยอมรับได้และได้ทราบล่วงหน้าแล้วว่าน้ำอาจจะท่วมจุดกลับรถดังกล่าว
นอกจากนี้ นายรังสรรค์ สุขชัยรังสรรค์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงพิจิตร กล่าวว่า จุดกลับรถดังกล่าวอยู่ติดกับคลองบ้านพลัง พื้นที่ ต.ทะนง อ.โพทะเล จ.พิจิตร สร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 สาเหตุที่ถูกน้ำท่วม เนื่องจากมีการผันน้ำมาจากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาวังยาง–หนองขวัญ จังหวัดกำแพงเพชร เพื่อให้เกษตรกรมีน้ำไว้ใช้สำหรับปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 ทำให้ระดับน้ำในคลองสูงและเข้าท่วมจุดกลับรถดังกล่าว หลังจากนี้ประมาณ 2 สัปดาห์ เมื่อเกษตรกรสูบน้ำเข้านาแล้วระดับน้ำจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งจะเป็นช่วงระยะสั้นๆประมาณ 1-2 เดือนนี้เท่านั้น ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาว แขวงทางหลวงพิจิตรจะเสริมความสูงของแผงแบริเออร์ขึ้นอีกประมาณ 50 เซนติเมตร เพื่อไม่ให้ระดับน้ำเอ่อล้นเข้ามาบริเวณยังจุดกลับรถ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อเตรียมความพร้อมตลอดเวลา
ส่วนข้อกังวลเรื่องของความคุ้มทุนหรือไม่นั้น ได้ชี้แจงว่าก่อนดำเนินการก่อสร้างได้สำรวจและศึกษาข้อมูลไว้อย่างครบถ้วน ซึ่งที่ผ่านมาจุดกลับรถดังกล่าวก็สามารถช่วยในการกลับรถโดยช่วงปกติจะมีปริมาณรถ 17,000 คันต่อวันและในช่วงเทศกาลปีใหม่หรือเทศกาลสำคัญจะมีปริมาณรถประมาณรถ 40,000 คัน ต่อวัน ที่ผ่านมาช่วยระบายรถได้เป็นอย่างดี
สิทธิพจน์ พิจิตร