นิพนธ์ นั่งประธาน กำหนดแนวทางส่งเสริมการค้า การลงทุน แก้ปัญหาเศรษฐกิจชายแดนใต้ ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง

นิพนธ์ นั่งประธาน กำหนดแนวทางส่งเสริมการค้า การลงทุน แก้ปัญหาเศรษฐกิจชายแดนใต้ ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง

เป็นกรอบ ผลิตเพื่อบริโภค-เหลือจำหน่าย ชี้ตลาดซาอุฯ-มาเลย์ ต้องการวัตถุดิบด้านอาหารจากไทยอีกมาก สอดคล้อง ยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหาร


วันนี้ 18 ก.พ.66 นายนิพนธ์ บุญญามณี ประธานคณะทำงานและคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะทำงานกำหนดแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือ ทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ กระทรวงพาณิชย์ โดยมีคณะทำงานอาทิ นายอรัญ วงศ์อนันต์ รองประธานคณะทำงาน นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. ผศ.ดร.สุกรี หลังปูเต๊ะ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ มฟน. ดร.ศิดดิก ลาลีวัน รองผู้จัดการใหญ่สหกรณ์อิบนุเอาฟ์ นายอธิพงศ์ยาชะรัคน์ เลขานุการเครือข่ายสหกรณ์อิสลามแห่งประเทศไทย นายอาฟันดี หะชั้น อ.ประจำสาขาวิขายริหารธุรกิจ มฟน. นายอัดนัน อัลฟารีฏีร์ อ.ประจำสาขาเศรษฐศาสตร์การเงินฯ มฟน. ณ ห้องประชุมสะบารัง โรงแรม ซี.เอส. ปัตตานี จังหวัดปัตตานี

โดยที่กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) กำหนดแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงติดตามและขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ และสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของพื้นที่ ให้เกิดการยกระดับการค้าและการตลาดให้กับกลุ่มเกษตรกร และผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เติบโตอย่างยั่งยืนเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม และรวดเร็วทันเหตุการณ์

นายนิพนธ์ กล่าวว่า เราต้องมาดูกระบวนการผลิตว่าจะมาปรับทำอย่างไร และเมื่อประตูการค้าเปิดการค้าขายแล้วเราจะทำอย่างไร ซึ่งประเทศซาอุดิอารเบียถือเป็นตลาดใหญ่ของตะวันออกกลาง วันนี้ก็เป็นกระบวนการหนึ่งในการที่จะส่งเสริมการผลิตแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง เราคิดกันไว้ว่าอย่างไร แต่ก่อนที่จะไปถึงการค้าระหว่างประเทศเราต้องถือว่าทำอย่างไรการผลิตในพื้นที่จะต้องเพียงพอกับการบริโภคภายใน ตามหลักทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงคือ ผลิตเพื่อบริโภค และเหลือไปจำหน่าย นี่คือหลักคิดที่รัชกาลที่ 9 ท่านได้ทรงวางไว้ให้กับปวงชนชาวไทย เพื่อเดินตามยุทธศาสตร์และจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับพื้นที่ ซึ่งนอกจากซาอุฯแล้ว วันนี้ยังคิดว่าที่จะจับคู่การค้ากับมาเลเซีย เพราะตลาดต้มยำกุ้งเป็นตลาดที่ใหญ่อีกตลาดหนึ่ง ถ้าสิ่งใดที่ปรับฐานการผลิตของเรา ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทางได้ เราก็ยังเชื่อได้ว่าการส่งออกยังมีช่องทางอีกมากในการที่จะจับคู่การค้ากับมาเลเซีย

โดยเฉพาะสินค้าเกษตรจากบ้านเรายังเป็นที่ต้องการของประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ซึ่งผมเคยเดินทางไปดูที่มาเลเซียมาแล้วพบว่ายังมีช่องทางการค้า การลงทุนไม่ว่าจะเป็นสินค้าประมงที่เราเลี้ยง สัตว์น้ำทั้งกุ้ง ปลายังนำไปเป็นวัตถุดิบต้มยำกุ้ง ก็ต้องไปจากประเทศไทยทั้งนั้น นอกจากนั้นยังมีพืชผักต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตะไคร้ มะกรูด คะน้ารวมถึงหอม กระเทียม พริก เป็นต้น ผมจึงคิดว่ายังมีช่องทางอีกมาก ดังนั้นทำอย่างไรที่จะส่งเสริมส่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นี่คือที่มาที่บอกว่า ทำให้เป็นพื้นที่ที่มีความมั่นคงทางด้านอาหาร โดยสภาพแวดล้อมโดยภูมิศาสตร์แล้ว ทางนี้เหมาะอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเพาะเลี้ยง การประมง การปศุสัตว์ ซึ่งกระทรวงเกษตรได้ส่งเสริมอยู่ในขณะนี้ ทั้งในเรื่องของโครงการโคบาลชายแดนใต้ หรือโครงการโคเนื้อ หรือโคเนื้อลังกาสุกะก็ดี นี่คือสิ่งที่จะทำรายได้ให้กับเกษตรกร เพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ ในเชิงโครงสร้างได้อย่างแท้จริงนั่นคือความยากจน

นายนิพนธ์ กล่าวด้วยว่า สิ่งหนึ่งที่คุยกันในวันนี้นอกจากเรื่องโคบาลชายแดนใต้ นอกจากเรื่องแพะแล้ว สิ่งหนึ่งที่คุยคือการเลี้ยงไก่อย่างครบวงจร ทั้งไก่เนื้อ ไก่ไข่ อันนี้คือสิ่งที่ต้องส่งเสริมตั้งแต่พ่อพันธุ์แม่พันธุ์รวมถึงการเลี้ยง และสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร การลดต้นทุนในการผลิตอย่างไร แล้วในที่สุดอีกเป้าหมายในการที่ผลิตแล้ว ปลายทาง การชำแหละจะทำอย่างไร การจำหน่ายจะทำอย่างไรสิ่งเหล่านี้ยังมีช่องทางอีกมาก ซึ่งล้วนแต่เป็นการสร้างรายได้ให้พื้นที่

“วันนี้ต้องขอบคุณ ศอ.บต. ขอบคุณกระทรวงเกษตร และกระทรวงพาณิชย์ที่ได้ประสานงานกันอย่างใกล้ชิด ในการเปิดโอกาสและสร้างโอกาสให้กับเกษตรกร สร้างโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่ที่จบการศึกษา ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้ลงมาพัฒนาพื้นที่มากขึ้น อยากจะถือโอกาสนี้เชิญชวนทุกฝ่ายที่เรียนจบแล้ว หรือจบจากต่างประเทศแล้วกลับลงมาพัฒนาพื้นที่ด้วยกัน สร้างความเข้มแข็งให้กับจังหวัดชายแดนใต้ และช่วยกันพัฒนาพื้นที่สร้างการเป็นอยู่ที่ดี และสร้างครอบครัวที่อบอุ่นในพื้นที่ด้วยกัน

นายปรีชา สถิตเรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา

Related posts