ปทุมธานี แพทย์รพ.ธรรมศาสตร์ฯ เผยฝุ่นละออง PM2.5 กระทบทำคนไข้เพิ่มขึ้น 3-4 เท่า
เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ดร.อรพรรณ โพชนุกูล กรรมการและเลขานุการมูลนิธิโรคหืดแห่งประเทศไทย , ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านโรคภูมิแพ้ โรคหืด และโรคระบบหายใจ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้แนะนำการดูแลตัวเองในช่วงสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละออง และ PM2.5 มลพิษทางอากาศ เนื่องจากเริ่มมีคนไข้เพิ่มขึ้น 3-4 เท่าเข้ามารับการรักษาที่ ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านโรคภูมิแพ้ โรคหืด และโรคระบบหายใจ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ศาสตราจารย์แพทย์หญิง ดร.อรพรรณ โพชนุกูล กล่าวว่า ช่วงนี้ผู้ที่เข้ามาตรวจอาการภูมิแพ้มีเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนประมาณ 3-4 เท่า ในส่วนนี้จะมีคนไข้เดิมจะมาก่อนนัด เพราะว่าได้รับผลกระทบจาก PM2.5 จนอาการของโรคภูมิแพ้กำเริบ ส่วนกลุ่มที่เป็นคนไข้ใหม่ที่พึ่งจะทราบว่าตัวเองเป็นโรคภูมิแพ้จากการที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นละออง
จากการที่คนไข้เดินทางมาที่โรงพยาบาลเยอะมากนั้นโดยจะมีอาการ ไอ แน่นหน้าอก หายใจเหนื่อย ส่วนผู้ที่มาด้วยอาการแพ้อากาศกำเริบจะมีเลือดกำเดาออก จาม น้ำมูก คัดจมูก คันตา หรือบางคนมีอาการคันตามตัว คันผิวหนัง ลมพิษ หมออยากให้คนไข้ตระหนักรู้อย่างเช่น การติดตามข่าว หรือติดตามดัชนีคุณภาพอากาศ หมั่นตรวจดูเพราะว่าช่วงนี้ค่าคุณภาพอากาศเกินปกติ คนไข้ต้องใช้ยาทุกวันห้ามขาด ส่วนคนไข้ที่เป็นหอบหืดที่มีการศึกษา PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นเกิน 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร คาดเดาได้เลยว่าอีก 3-5 วันจะมีอาการกำเริบ ดังนั้นคนไข้ที่เป็นหอบหืดจะแนะนำว่าให้พกยาพ่นฉุกเฉินติดตัวไว้ เมื่อมีอาการไอไม่ต้องรอหอบ สามารถพ่นยาฉุกเฉินทันที และหมั่นเช็คยาด้วยว่ายาที่เรามีหมดอายุหรือเปล่า เมื่อเรามียาควบคุม ยาป้องกันเราต้องใช้ต่อเนื่อง หรือจะเพิ่มขนาดยาก็ได้ แต่ห้ามขาดยา
ส่วนผู้ที่แพ้อากาศต้องเพิ่มยาพ่นจมูก กินยาแก้แพ้ ใช้วิธีล้างจมูกเพิ่มด้วย หมั่นดูแลตัวเอง ในการใช้ชีวิต เราต้องติดตามข่าวว่า ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้หรือผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงอย่าไปชินกับข่าวจนไม่ระมัดระวังตัวเอง เราต้องตระหนักดูว่าสถานที่ที่เราอยู่มีฝุ่นเยอะหรือไม่ วิธีที่จะช่วยเราได้ก็คือการใส่หน้ากาก แต่เราจะชินกับหน้ากากธรรมดา ซึ่งหน้ากากอนามัยธรรมดาสามารถป้องกัน PM2.5 ได้ไม่ถึงครึ่ง หมอขอแนะนำว่าอาจจะต้องใช้หน้ากากที่ป้องกัน PM2.5 ได้ หรือหากไม่มี สามารถใส่หน้ากากอนามัย 2-3 ชั้นก็ได้ เพื่อให้หน้ากากแนบหน้า และหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝุ่นเยอะ หากภายในบ้านมีเด็กที่เป็นโรคภูมิแพ้หรือมีผู้ป่วยอยู่ในบ้าน อาจจะต้องลงทุนมีเครื่องฟอกอากาศอย่างน้อย 1 เครื่องไว้ในบ้าน นำเครื่องฟอกอากาศตั้งไว้บริเวณทีเราอยู่ด้วยกันมากที่สุดเพื่อเป็นการป้องกัน และปรับไลฟ์สไตล์
เช่น การออกกำลังกายนอกบ้านก็ต้องเข้ามาออกกำลังกายในบ้านแทน สำหรับคนไข้ที่เข้ามารักษาเด็กจะน้อยกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากเด็กส่วนใหญ่อาการที่เป็นจะไม่เยอะมาก เนื่องจาก เด็กมีความแข็งแรงกว่าผู้ใหญ่ เพราะว่าผู้ใหญ่ที่เดินทางมาโรงพยาบาลจะมีอาการเยอะแล้ว ต้องปรับยา มีอาการหอบจนนอนไม่ได้เยอะมาก ซึ่งคนไข้เด็กจะมีผู้ปกครองดูแลให้เป็นอย่างดีและละเอียด ซึ่งเด็กที่มาด้วยอาการหอบกำเริบก็มีแต่ไม่ได้เยอะมาก ช่วงนี้หมอจะไม่ลดยาให้คนไข้ ปกติแล้วหากคนไข้ไม่มีอาการมานาน 1 ปี หมอจะลดยาให้ เนื่องจากช่วงนี้ผลกระทบจากฝุ่นละออง หมอจึงไม่ลดยา จึงฝากเตือนคนไข้จะคิดจะหยุดยาเองในช่วงนี้เพราะไม่มีอาการมา 1 ปีแล้ว อาจจะเสี่ยงทำให้โรคกำเริบได้ เมื่อเราทานยาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ดูแลตัวเอง จะทำให้โรคไม่ค่อยกำเริบ
ในช่วงเดือนธันวา มกรา กุมภาฯ เริ่มจะมีปัญหาฝุ่นละออง ซึ่งจะมีทุกปี เป็นปรากฎการณ์ที่มีซ้ำ ๆ ทุกปี เราจึงต้องเข้มงวดกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น ทานยาอย่างสม่ำเสมอ ใส่หน้ากากให้กระชับแนบใบหน้าคล้ายกับการดูแลตัวเองในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 นอกจากนี้หมอยังได้ทำแอพพลิเคชั่น AllergyCare สำหรับโรคอักเสบภูมิแพ้และผื่นคันลมพิษ ผู้ที่สนใจสามารถดาวโหลดเพื่อประเมินอาการของตัวเอง ด้วยขั้นตอนสั้นๆ มีรายงานดัชนีคุณภาพอากาศ AQI ทุกวัน เชื่อถือได้และเข้าใจง่ายสามารถโหลดได้ใน AppStore และGooglePlay
ภาพ/ข่าว ประภาพรรณ ขาวขำ/รายงาน