ปภ.ระยอง ร่วมกับ อบต.หนองบัว จัดโครงการให้ความรู้เพื่อรับมือภัยจากช้างป่า

ปภ.ระยอง ร่วมกับ อบต.หนองบัว จัดโครงการให้ความรู้เพื่อรับมือภัยจากช้างป่า

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566 ที่ศาลาเอนกประสงค์บ้านศาลาน้ำลึก ต.หนองบัว อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ว่าที่ ร้อยตรี พิรุณ เหมะรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เปิดโครงการเสริมสร้างศักยภาพชุมชนด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ภัยช้างป่า ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยมีนายอัธยา นวลอุทัย หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดระยอง นายฉันท์ แป้นเพชร นายอำเภอบ้านค่าย นายสุจินต์ สุขเกิด นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัว และภาคเอกชนร่วมพิธีเปิดและแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับช้างป่า โดยมีวิทยากรจากอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา – เขาวง และสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดระยอง มีชาวบ้านและนักเรียนในพื้นที่เข้าร่วมโครงการ


โครงการดังกล่าวมุ่งเน้นให้ให้ชุมชน-หมู่บ้านมีความพร้อมในการจัดการสาธารณภัยของชุมชนอย่างเป็นระบบ โดยชุมชนสามารถคิดเอง ทำเอง และใช้ทรัพยากรของชุมชนเองได้ พร้อมทั้งสร้างให้ชุมชน-หมู่บ้าน เป็นองค์กรหลักในการบริหารจัดการด้านสาธารณภัย โดยให้คณะกรรมการหมู่บ้าน-ชุมชน สามารถที่จะป้องกันและลดความสูญเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการสร้างเครือข่ายในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับหมู่บ้าน-ชุมชนในจังหวัดระยองด้วย


นายอัธยา นวลอุทัย หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดระยอง กล่าวว่า จังหวัดระยองโดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดระยองร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัว จัดทำโครงการเสริมสร้างศักยภาพชุมชนด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขึ้น นำหลักการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ โดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน CBDRM มาเป็นแนวทางดำเนินงาน เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับชุมชนในการป้องกัน เตือนภัย การบรรเทาและฟื้นฟูสาธารณภัย โดยทำให้คนในชุมชนตระหนักถึงศักยภาพของชุมชนและมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น รวมทั้ง มีส่วนร่วมในการคิด วางแผน และร่วมดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงภัย การป้องกันและควบคุมความเสียหาย ให้กลับสู่สภาวะปกติได้รวดเร็ว


ว่าที่ร้อยตรี พิรุณ เหมะรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า การบริหารจัดการภัยพิบัติของไทยในปัจจุบันได้นำหลักการจัดการภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐานมาเป็นแนวทางและวิธีการดำเนินการ ในส่วนของจังหวัดระยอง พื้นที่ตำบลหนองบัว เขาพนมศาสตร์ หมู่ที่ 4 ได้มีการรายงานมาว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยช้างป่า เนื่องจากมีช้างป่าเข้ามาหากินอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว จำนวน 5 ตัว ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ จังหวัดระยองจึงได้ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่จัดโครงการนี้เพื่อให้ประชาชนเตรียมความพร้อมในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งสามารถป้องกันและลดความสูญเสียของชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Related posts