กระทรวงแรงงาน จับมือ 9 หน่วยงานรัฐ + เอกชน MOU ความร่วมมือด้าน “การส่งเสริมการมีงานทำ”
วันที่ 27 มกราคม 2566 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมการมีงานทำ ณ ห้องประชุม ชั้น 5 กระทรวงแรงงาน โดยมีนายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองปลัดกระทรวงแรงงาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี
นายสุรชัย กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด – 19 ที่เริ่มคลี่คลาย ระบบเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว ความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น จนมีแนวโน้มจะเกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน กระทรวงแรงงานจึงได้จัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบการให้บริการจัดหางาน เพื่อช่วยเหลือผู้ว่างงานให้กลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยการขับเคลื่อนการให้บริการประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e – Service) เชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ผ่านระบบวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ด้านแรงงาน หรือ Big Data โดยในวันนี้กรมการจัดหางาน กับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวม 9 หน่วยงาน ประกอบด้วย
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย สมาคมโรงแรมไทย บริษัทจัดหางาน จ็อบ มายเวย์ จำกัด บริษัทจัดหางาน กู๊ด จ๊อบ โปรเพสชันแนล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทจัดหางาน เก็ทลิงส์ จำกัด และบริษัทจัดหางาน อินเทิร์นชิพส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมการมีงานทำ เพื่อจัดทำระบบวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ด้านแรงงาน หรือ ระบบ Labour Big Data Analytics สำหรับเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลด้านความต้องการแรงงาน และด้านกำลังแรงงาน เพื่อใช้แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และการว่างงาน
“ข้อมูลมหาศาลเหล่านี้จะช่วยเตรียมความพร้อมการวางแผนกำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และแนวทางการพัฒนาประเทศ สอดรับกับนโยบายรัฐบาล ภายใต้การนำของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้กระทรวงแรงงานบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในการสร้างโอกาสการเข้าถึงอาชีพ ให้ประชาชนมีรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าว
ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรอบความร่วมมือที่กรมการจัดหางาน ลงนาม MOU ร่วมกับทั้ง 9 หน่วยงาน มีสาระสำคัญ 5 ด้าน ดังนี้
1. ส่งเสริมการมีงานทำโดยเพิ่มช่องทางการเข้าถึงตำแหน่งงานว่างให้ประชาชนได้มีโอกาสเลือกทำงานที่เหมาะสมกับความรู้ ความถนัดและประสบการณ์ รวมทั้งการวิเคราะห์ความต้องการตลาดแรงงานและแนวโน้มตลาดแรงงานของประเทศ
2. ส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาสในการพัฒนาความรู้ ความสามารถ และความถนัดของตนเองให้เหมาะสมกับความต้องการแรงงานในอนาคต โดยเพิ่มช่องทางเข้าถึงข้อมูลหลักสูตรการฝึกอบรมออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มไทยมีงานทำ
3. เชื่อมโยงข้อมูลตำแหน่งงานว่างที่มีในแพลตฟอร์มบริษัทจัดหางานลงในแพลตฟอร์มไทยมีงานทำ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้ประชาชน ผู้ว่างงาน และผู้ที่ต้องการหางาน สามารถใช้บริการหางานได้บนแพลตฟอร์มเดียว โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
4. สนับสนุนข้อมูลทางเศรษฐกิจ ได้แก่ แนวโน้มภาพรวมเศรษฐกิจ ดัชนีความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรม และผลการสำรวจของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ในการวิเคราะห์แนวโน้มความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรม
5. ร่วมประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการมีงานทำ ให้ความรู้ด้านแรงงานที่มีประโยชน์ต่อประชาชนในการหางานทำ และเข้าร่วมกิจกรรมนัดพบแรงงาน โดยให้บริการจัดหางานแก่ผู้สมัครงาน โดยไม่เรียกเก็บค่าบริการหรือค่าใช้จ่าย