เชียงใหม่-มช. ชูงานวิจัยด้านนวัตกรรมอาหารและการดูแลผู้สูงอายุเพื่อชีวิตที่ดี
ศาสตราจารย์ ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงงานวิจัยด้านนวัตกรรมอาหารและการดูแลผู้สูงอายุเพื่อชีวิตที่ดี ในงานแถลงข่าวมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2565 ว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีแนวทางในการขับเคลื่อนตามแผนการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ระยะที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) ในการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยนวัตกรรม สนับสนุนวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์การสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการวิจัยและนวัตกรรม โดยมี “เกษตรและอาหารมูลค่าสูง” และ “การแพทย์และสุขภาพ” เป็นหนึ่งในหัวข้องานวิจัยแบบมุ่งเป้าตามยุทธศาสตร์สำคัญที่สามารถยกระดับสังคมสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดี เตรียมพร้อมประเทศไทยให้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ และสร้างผลกระทบเชิงบวกให้แก่เศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งนักวิจัย มช. ต่างมุ่งมั่นสร้างสรรค์และบูรณาการองค์ความรู้เพื่อพัฒนาผลงานวิจัยที่นำไปใช้ประโหยชน์ได้จริงอย่างต่อเนื่อง ดังเช่นงานวิจัยที่ได้ยกตัวอย่างมานี้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมเด่นของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นการเปิดตัวครั้งแรก ในธีมนวัตกรรมอาหารและการดูแลผู้สูงอายุเพื่อชีวิตที่ดี ได้แก่ นวัตกรรมระบบล้างผักและผลไม้ด้วยฟองไมโครนาโนโอโซน งานวิจัยนี้ได้รับการพัฒนาขึ้นโดย รองศาสตราจารย์ ดร.กานดา หวังชัย สังกัดภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ และทีมวิจัยจากศูนย์วิจัยเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
FoodPrompt แพลตฟอร์มโภชนบำบัดผู้สูงอายุ งานวิจัยนี้พัฒนาคิดค้นนำโดยรองศาสตราจารย์ ดร.วัสสนัย วรรธนัจฉริยา ผู้ช่วยคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรม อุตสาหการ นำทีมวิจัยด้านเทคโนโลยีการผลิตและการจัดการขั้นสูงร่วมวิจัย
“ปิ่นโต” : “PINTO” เครื่องสแกนอาหารแบบชาญฉลาด Smart Food Scanner งานวิจัยนี้พัฒนาคิดค้นนำโดยรองศาสตราจารย์ ดร.วัสสนัย วรรธนัจฉริยา ผู้ช่วยคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรม อุตสาหการ นำทีมวิจัยด้านเทคโนโลยีการผลิตและการจัดการขั้นสูงร่วมวิจัย
งานวิจัย “บรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ” (Smart TTI Intelligent time-temperature-indicator from biopolymer for fresh produce) ศาสตราจารย์ ดร.พรชัย ราชตนะพันธุ์ หัวหน้าทีมวิจัย จากคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมกับ ทีมอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รองศาสตราจารย์ ดร. วินิตา บุณโยดมรองศาสตราจารย์ ดร. กิตติศักดิ์ จันทนสกุลวงศ์ ศรินทร์ทิพย์ ธนัคฆเศรณี และ ศาสตราจารย์ ดร.ภาณุวัฒน์ สรรพกุล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับนักศึกษาปริญญาเอก นายอภิสิทธิ์ แสนใจบาล จากสาขาวิชาวิทยาศาสตร์นาโนและเทคโนโลยีนาโนคณะวิทยาศาสตร์ มช. ร่วมกันสร้างสรรค์และพัฒนางานวิจัย จนมีผลงานโดดเด่น คว้ารางวัลจากเวทีต่าง ๆ ที่มีความสำคัญ และเป็นที่ยอมรับในระดับชาติและนานาชาติกลับมามากมาย
เซรั่ม “สมุนไพรกะเพราไทยต้านริ้วรอยและชะลอวัย” นวัตกรรมเพื่อความงามนี้ มี รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.วรรธิดา ชัยญาณะ คณะเภสัชศาสตร์ มช. เป็นหัวหน้าทีมวิจัย
เจลลี่รสผลไม้-มิติใหม่ของเจลลี่ อาหารสำหรับผู้สูงอายุ ที่กลืนง่าย รสชาติดี และได้สารอาหารครบถ้วน ผลิตภัณฑ์นี้ได้รับการพัฒนาโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธรรณพ เหล่ากุลดิลก สาขาวิชาเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ทางทะเล คณะอุตสาหกรรมเกษตร
เจลลี่กระเพาะปลาน้ำแดง มิติใหม่ของเจลลี่อาหารสำหรับผู้สูงอายุ ที่กลืนง่าย รสชาติดี และได้สารอาหารครบถ้วน ในส่วนของผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับผู้สูงอายุในรูปแบบเจลลี่กระเพาะปลาน้ำแดง เน้นที่การส่งเสริมภาวะโภชนาการด้านโปรตีน มีลักษณะเนื้อสัมผัสนุ่ม ให้รสชาติอร่อยตามแบบฉบับกระเพาะปลาน้ำแดงแบบดั้งเดิม ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนี้มี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกสิทธิ์ จงเจริญรักษ์ สาขาวิชาวิศวกรรมอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร เป็นผู้พัฒนา