‘ผู้ช่วยฯสมพงษ์’แนะรู้เท่าทัน เตือน 5 กลโกงวิธีตุ๋นสุดอันตราย
11 มกราคม 2566 พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) หัวหน้าอำนวยการด้านประชาสัมพันธ์ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) , พล.ต.ต.อรุษ แสงจันทร์ ผบก./หัวหน้าฝ่ายแถลงข่าวและประสานงานสื่อมวลชน ศปอส.ตร. และ พ.ต.อ.ภัคพงศ์ สายอุบล รอง ผบก./รองหัวหน้าฝ่ายแถลงข่าวและประสานงานสื่อมวลชน ร่วมกันเปิดเผยว่า มีประชาชนแจ้งความคดีออนไลน์ของศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com ในส่วนของคดีออนไลน์จำนวนมาก ซึ่งทาง ศปอส.ตร. รวบรวมไว้ 5 อันดับแรก คือ 1.หลวงลวงซื้อขายสินค้า 2.หลอกให้โอนเงินเพื่อหารายได้จากการทำกิจกรรม 3.หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน 4.หลอกให้ลงทุนออนไลน์รูปแบบต่างๆ และ 5.แก๊งคอลเซ็นเตอร์
สำหรับตัวอย่างของพฤติกรรมของ “คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้า” นั้น พบว่า สินค้ายอดฮิตที่ซื้อ-ขายกันมากที่สุด โดยสื่อผ่านโซเชียลทั้ง Facebook , Instagram , Twitter คือ 1.หลอกขายโทรศัพท์ 2.หลอกขายแท่งไฟศิลปินเกาหลี 3.หลอกขายอัลบั้มเพลงเกาหลี 4.หลอกขายนมผง 5.หลอกขายน้ำหอม
ข้อสังเกตที่ควรรู้ คือ 1.สังเกตสัญลักษณ์ยืนยันตัวตน จะขึ้นเครื่องหมาย “ถูก” สีฟ้า ด้านหลังชื่อเพจ 2.สังเกตดูยอดไลค์ ถ้ามีน้อยหรือ ไม่มีรีวิว อาจจะไม่มีความน่าเชื่อถือ อย่าซื้อ
3.สังเกตดูหลายระเอียดที่เมนูความโปร่งใสของเพจ เช่น ดูหมวด ประวัติการสร้างเพจ สร้างเมื่อไร ถ้าเพจเพิ่งสร้างเร็วๆนี้ 1- 2 เดือนนี้ มีความเป็นไปได้สูงเป็นเพจหลอกลวง ดูหมวด คนที่จัดการเพจนี้ หัวข้อประเทศ/ภูมิภาคหลักของผู้ที่จัดการเพจนี้ ส่วนใหญ่ จะอยู่ต่างประเทศ เช่น China Argentina Cambodia ดูประวัติการเปลี่ยนชื่อเพจ จะเปลี่ยนชื่อเพจเรื่อยๆ เช่น เปิดขายเพจ โกดัง นาฬิกา วันที่ 15 ธ.ค. 2021 ช่วงหน้าทุเรียน เปลี่ยนชื่อเพจไปขาย ทุเรียนเกรดพรีเมียม วันที่ 28 พ.ค.2022 และเปลี่ยนขายเก้าอี้เกมมิ่ง ในวันที่ 30 มิ.ย.2022
พล.ต.ท.สมพงษ์ กล่าวอีกว่า ส่วนพฤติกรรมของมิจฉาชีพออนไลน์ คดีที่ติดอันดับ 2 คือ คดีหลอกให้โอนเงินเพื่อหารายได้จากการทำกิจกรรม กิจกรรมที่หลอกให้ทำมากที่สุด โดยสื่อออนไลน์ที่คนร้ายประกาศ/โฆษณามากที่สุด คือ Google ,Facebook , Tiktok คือ 1.ให้ซื้อสินค้าทำสต๊อก 2.ให้กดไลค์/กดแชร์/ดูคลิป 3.ปั่นยอดซื้อสินค้า/แพ็คสบู่ และอื่นๆ
สำหรับรูปแบบการหลอกให้ซื้อสินค้าทำสต๊อก คือทำการซื้อสินค้าเข้าสต๊อก โดยไม่ต้องทำสต๊อกสินค้าจริง(คล้าย Droprich) คนร้ายอ้างให้นำไปขายต่อ ทำกำไรได้ 20-50 % โดยคนร้ายจะให้ซื้อ-ขายทั้งหมด 8 ครั้ง ถึงจะถอนเงินต้นได้
ขั้นตอนที่ 1 คนร้ายจะให้ซื้อสินค้าหลัก 100 บาท แล้วระบบจะแจ้งเตือนผลกำไรและเงินต้นที่จะได้คืนทั้งหมด 150 บาท
ขั้นตอนที่ 2 คนร้ายจะให้ซื้อสินค้าชิ้นที่ 2 ในราคา 1,000 บาท แต่เงินในระบบไม่พอ ต้องให้เหยื่อ เติมเงินเข้าไป 850 บาท เพื่อให้ครบ 1,000 บาท จากนั้น ระบบจะแจ้งเตือนเงินทุนและผลกำไรเป็นเงิน 1500 บาท
ขั้นตอนที่ 3-8 คนร้ายจะเพิ่มมูลค่าสินค้าที่ต้องทำสต๊อกไปเรื่อยๆ และเหยื่อจะต้องเติมเงินไปทุกรอบ
เมื่อครบ 8 ขั้นตอน แล้วแจ้งถอนเงิน คนร้ายจะอ้าง ติดปัญหาต่างๆ เช่น ต้องเสียภาษี , ต้องจ่ายค่าปลดล็อกฟอกเงินเพิ่ม เป็นต้น สุดท้ายไม่ได้เงินคืนทั้งเงินต้นและผลกำไร
พล.ต.ท.สมพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การย้ำเตือนดังกล่าวเป็นนโยบายและสั่งการของ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. ที่ได้สั่งการให้เข้มงวดกวดขันในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องในความรับผิดชอบของศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและสารสนเทศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยหวังว่าจะสามารถปราบปรามการกระทรวงปิดให้หมดสิ้นไปเพื่อความสุขของประชาชนและสังคมไทยอย่างแท้จริง
“อย่าลืมเข้าไปดูในเพจ https://www.facebook.com/PCTPOLICE แล้วร่วมกันแจ้งเบาะแสในการแสดงความผิดเป็นกองกำลังป้องกันปราบปรามอาชญากรรมเหล่านี้หมดสิ้นไป” พล.ต.ท.สมพงษ์ กล่าว