ชาวนาในพื้นที่ใช้น้ำชลประทาน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ เริ่มลงมือปรับพื้นที่เพื่อทำนาปรัง ขณะที่มีฝูงกระยางนาจากต่างถิ่นนับพันตัว อพยพหน้าหนาวมาปักหลักจิกกินหอยและแมลงศัตรูข้าวเป็นอาหาร เป็นภาพที่สร้างสีสันสวยงามเต็มท้องทุ่ง
วันที่ 5 มกราคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพ ของเกษตรกรชาว จ.กาฬสินธุ์ ในเขตใช้น้ำชลประทาน ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวหรือเขื่อนลำปาว โดยเฉพาะพื้นที่ต้นน้ำ ต.บัวบาน ต.ดอนสมบูรณ์ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ พบว่าเกษตรกรที่เป็นชาวนา ได้ลงมือไถนาและปรับพื้นที่โดยใช้รถไถ เพื่อทำนาปรังกันแล้ว ขณะเดียวกันก็ได้มีฝูงนกกระยางนาจากต่างถิ่นนับพันตัว อพยพในช่วงหน้าหนาวเข้ามาในพื้นที่ เพื่อจิกกินไส้เดือน หอยเชอรี่ หนอน และแมลงศัตรูข้าว ทำให้เกิดภาพที่สวยงาม เพลินตา
สอบถามนายโกวิทย์ ภูวิลัย เกษตรกรบ้านตูม ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า นกกระยางนาจะจับกลุ่มหากินในเขตที่มีน้ำขัง เพราะจะมีอาหารประเภทกุ้ง หอย ปู ปลา และแมลงต่างๆให้จิกกิน นกกระยางนาจึงได้ชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ โดยในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ พบบ้างในพื้นที่ ต.บัวบาน ต.ดอนสมบูรณ์ อ.ยางตลาด และ ต.ลำพาน อ.เมืองกาฬสินธุ์ เนื่องจากมีคลองชลประทาน และลำน้ำพาน เกษตรกรประกอบอาชีพเลี้ยงกุ้งก้ามกราม และทำนาปรัง จึงมีน้ำตลอดปี ซึ่งนกกระยางนาแต่เดิมอพยพมาจากต่างถิ่น เช่น แถบภาคกลาง ก่อนที่จะกลายเป็นนกประจำถิ่นในเวลาต่อมา
นายโกวิทย์กล่าวอีกว่านกกระยางนาที่พบในพื้นที่ค่อนข้างจะคุ้นเคยกับมนุษย์ ไม่ตื่นกลัวรถไถนา สังเกตจากเวลาขับรถไถนา จะเห็นฝูงนกกระยางนาจะบินวนเวียนเพื่อหาอาหารอยู่ใกล้กับรถไถนา รวมทั้งบินโฉบลงจิกกินกุ้งในบ่ออีกด้วย ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่จิตใจดี มีเมตตา ไม่ทำร้ายนกกระยางนา ก็ใช้วิธีการป้องกันตามภูมิปัญญา ไม่ให้นกกระยางนามารบกวนกุ้งในบ่อ เช่น ทำหุ่นไล่กา เคาะสังกะสีให้มีเสียงดัง และจุดประทัดไล่ เป็นต้น
นายโกวิทย์กล่าวเพิ่มเติมว่าในช่วงฤดูหนาวปีนี้ และช่วงทำนาปรังปีนี้ ดูพฤติกรรมของนกกระยางนาบางฝูงจะเปลี่ยนไป คือไม่เข้าใกล้รถไถนา คาดว่าคงจะเป็นนกกระยางนาฝูงใหม่ ที่อพยพมาจากต่างถิ่นหรือบินมาจากพื้นที่อื่นที่ประสบภัยแล้ง พอบินมาพบแหล่งที่มีน้ำขัง ขณะที่ชาวนากำลังไถนา มีอาหารประเภทไส้เดือน หอย แมลง สัตว์น้ำอื่นๆ จึงบินลงมาปักหลักจับกลุ่มหากิน มองเห็นเป็นภาพที่สวยงาม สร้างสีสันให้กับท้องนาที่เคยว่างเปล่า เป็นสีขาวลานตาเต็มท้องนา ประโยชน์ที่ตามมาก็คือ นกกระยางนาช่วยกำจัดหอยเชอรี่และแมลงศัตรูข้าว เป็นการช่วยช่วยนาประหยัดเงินซื้อสารสารเคมีได้เป็นอย่างดี