“เพื่อไทย” เห็นด้วย สภาอุตสาหกรรมฯ หยุดการขึ้นค่าไฟฟ้า ชี้ ความสามารถแข่งขันไทยจะลด เวียดนามหน่วย 2.88 บาท แนะ 4 แนวทางลดค่าไฟฟ้าในระยะสั้นและระยะยาว
นางสาวจุฑาพร เกตุราทร ว่าที่ผู้สมัคร สส. กทม. เขต บางรัก สาทร ปทุมวัน และ โฆษกคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลประกาศขึ้นราคาไฟฟ้าสำหรับธุรกิจและอุตสาหกรรมจากหน่วยละ 4.72 บาท เป็น หน่วยละ 5.69 บาท สร้างความเดือดร้อนให้กับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมอย่างมาก จนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยต้องออกเรียกร้องขอให้หยุดการขึ้นค่าไฟฟ้าไว้ก่อน เพราะภาคธุรกิจคงแบกกันไม่ไหว เนื่องจากตอนต้นปียังอยู่ที่หน่วยละ 3.70 บาทเลย หรือขึ้นราคาถึง 53% ซึ่งหนักมาก อีกทั้ง ประเทศเวียดนามที่เป็นประเทศคู่แข่งของไทยคิดค่าไฟฟ้าเพียงหน่วยละ 2.88 บาทเท่านั้น ซึ่งแตกต่างกันเกือบเท่าตัว นอกจากนี้การขึ้นค่าไฟฟ้าจะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าสูงขึ้น ผู้ผลิตก็ต้องขึ้นราคาสินค้าทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น และประชาชนจะยิ่งเดือดร้อนจากค่าครองชีพที่สูงอยู่แล้ว เหมือนซ้ำเติมความลำบาก
ดังนั้นหากรัฐบาลยังยืนยันจะขึ้นค่าไฟฟ้าในระดับนั้นจะทำให้การแข่งขันของไทยลดลง นักลงทุนต่างประเทศจะไม่มาลงทุนในประเทศไทย แต่จะหันไปลงทุนในประเทศเวียดนามหมด ซึ่งที่ผ่านมาก็เป็นแบบนี้อยู่แล้ว โดยล่าสุดความสามารถแข่งขันของประเทศไทยหล่นลงมาถึง 5 อันดับจากอันดับที่ 28 ลงมาอันดับที่ 33 ซึ่งย่ำแย่อยู่แล้ว ทั้งนี้การที่ประเทศไทยต้องขึ้นราคาไฟฟ้าในระดับสูง เกิดจากการบริหารพลังงานที่ผิดพลาดของรัฐบาลเอง ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าพุ่งขึ้นสูงและต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่มีราคาสูงเข้ามาใช้ในการผลิตไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะปัญหาการส่งมอบสัมปทานการขุดก๊าซในพื้นที่อ่าวไทย ปริมาณก๊าซจากเมียนมาร์ที่ลดลง อีกทั้งยังปล่อยให้มีการผลิตไฟฟ้าเกินความต้องการเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องจ่ายค่าความพร้อมสำหรับโรงงานไฟ้ฟ้าที่สร้างเกินความต้องการใช้เป็นจำนวนมากกว่า 50%
ดังนั้น จึงขอเสนอแนวทางในการแก้ไขราคาค่าไฟฟ้าดังนี้
1. อย่าเพิ่งขึ้นราคาไฟฟ้า ตรึงราคาค่าไฟฟ้าไปก่อน เพราะราคาพลังงานมีแนวโน้มที่จะลดจากภาวะเศรษฐกิจของโลกที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า อีกทั้งหลังจากฤดูหนาว ความต้องการพลังงานจะลดลง ราคาพลังงานและราคาก๊าซธรรมชาติเหลวน่าจะลดลง
2. รัฐบาลต้องเข้าไปเจรจาหาข้อยุติในกรณีพิพาทเรื่องการส่งมอบสัมปทานในพื้นที่อ่าวไทย เพื่อให้การนำก๊าซขึ้นมาใช้ผลิตไฟฟ้าไม่หยุดชะงัก โดยราคาไฟฟ้าที่ผลิตจากก๊าซในอ่าวไทย และ จากก๊าซจากประเทศเมียนมาร์จะอยู่เพียงหน่วยละ 2-3 บาทเท่านั้น ในขณะที่เชื้อเพลิงจากแหล่งอื่นที่ต้องนำเข้าจะแพงกว่านี้มาก
3. เจรจาลดค่าความพร้อมของโรงไฟฟ้าที่สร้างเสร็จแล้วแต่ไม่ได้จ่ายไฟฟ้าเพราะมีกำลังผลิตเกินความต้องการมาก โดยปัจจุบัน รัฐบาลต้องจ่ายค่าความพร้อมถึงเดือนละ 8,000 ล้านบาท ปีละเป็นแสนล้านบาท ซึ่งสูงมากและต้องนำมารวมกับค่า FT ของราคาไฟฟ้า นอกจากนี้ยังจะมีโรงไฟฟ้าทึ่จะก่อสร้างเสร็จอีกหลายโรงซึ่งต้องจ่ายค่าความพร้อมนี้กันมากขึ้น
4. หยุดการให้ใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าทุกชนิด จนกว่าความต้องการไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น และสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเกินความต้องการจะลดลง ทั้งนี้ในขณะที่การผลิตไฟฟ้ายังเกินความต้องการแต่รัฐบาลยังจะออกใบอนุญาติไฟฟ้าอีกกว่า 5,203 เมกกะวัตต์ แม้จะอ้างว่าเป็นไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน แต่ก็จะเพิ่มปริมาณไฟฟ้าที่ล้นเกินให้ล้นเกินมากขึ้น
5. เร่งเจรจาแหล่งพลังงาน ในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา เพื่อนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าได้ในราคาที่ถูกลงและจะทำให้ลดราคาค่าไฟฟ้าได้ อีกทั้งรัฐบาลจะได้รายได้เป็นจำนวนมากในการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางทั้งผู้สูงอายุ และ ผู้มีรายได้น้อย จากค่าภาคหลวง และ ภาษีจากธุรกิจต่อเนื่องในด้านต่างๆอีกเป็นจำนวนมาก และ ยังช่วยเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกมาก
ทั้ง 5 แนวทางนี้สามารถทำได้ทันที และจะทำให้ราคาพลังงานของประเทศไทยลดลง อีกทั้งไทยจะมีความมั่นคงทางพลังงาน รัฐบาลที่มีประสิทธิภาพจะต้องคำนึงผลกระทบของราคาพลังงานที่มีต่อเศรษฐกิจทั้งระบบ ไม่ใช่เฉพาะแค่ราคาพลังงาน ดังนั้นการดูแลราคาพลังงานให้อยู่ในราคาที่ต่ำสุดเพื่อช่วยเหลือประชาชนจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น และหากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล จะลดราคาน้ำมัน ราคาไฟฟ้า และ ราคาก๊าซหุงต้มทันที เพื่อช่วยเหลือลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และจะเป็นการลดภาวะเงินเฟ้อเลยด้วย ขอให้ประชาชนมั่นใจได้