กรมการแพทย์แผนไทยฯ จับมือ อบจ. เร่งพัฒนาระบบบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ระดับปฐมภูมิ เน้นใช้สมุนไพร กัญชา กัญชง ทางการแพทย์แบบบูรณาการ ปี 66 เดินหน้า รพ.สต.กว่า 2,000 แห่ง ทั่วประเทศ
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข จับมือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด พัฒนาระบบบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ระดับปฐมภูมิ เพื่อให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล หรือ รพ.สต. ทั่วประเทศกว่า 2,000 แห่ง ใช้สมุนไพร กัญชา และกัญชง เพื่อเป็นทางเลือกในการดูแลผู้ป่วย และ ประชาชน ในชุมชนให้มีสุขภาพดี ตามนโยบายการแพทย์แบบบูรณาการ ปี 2566
วันนี้ 14 ธันวาคม 2565 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร นายแพทย์ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมและพัฒนาศักยภาพองค์การบริหารส่วนจังหวัด ด้านการแพทย์แผนไทยการแพทย์ทางเลือกและการใช้สมุนไพรทางการแพทย์แบบบูรณาการ โดยมี นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นายบุญชู จันทร์สุวรรณ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย ดร.ภูนท สลัดทุกข์ รองเลขาธิการ สมาคม องค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย ผู้บริหาร บุคลากรกระทรวงสาธารณสุข และบุคลากรองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศ ได้ร่วมจัดงานในครั้งนี้
เพื่อให้ผู้บริหาร บุคลากรด้านสาธารณสุขและผู้ที่เกี่ยวข้องที่ปฏิบัติงานในองค์การบริหารส่วนจังหวัด มีความรู้ ความเข้าใจ ในด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก และสามารถใช้กัญชาทางการแพทย์แบบบูรณาการ ในการดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับผู้เข้าร่วมสัมมนาวิชาการในครั้งนี้ ประกอบด้วย ผู้บริหาร บุคลากร โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 49 จังหวัด ที่ได้รับการถ่ายโอนไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด และบุคลากรจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 76 จังหวัด จำนวน 500 คน โดยงานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 – 15 ธันวาคม 2565 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร
นายแพทย์ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบาย มุ่งกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ได้ออกประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่องหลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน และให้สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯและ รพ.สต. สามารถตอบสนอง ความต้องการทางด้านสุขภาพของประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง
ซึ่งข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ และ รพ.สต. รวมแล้ว 3,263 แห่ง จากจำนวนทั้งสิ้น 9,787 แห่งทั่วประเทศ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเร่งรัดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดทิศทางการให้บริการภายใต้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สร้างหลักประกันความต่อเนื่องของบริการ รวมถึงพัฒนาคุณภาพของการบริการสุขภาพในระดับปฐมภูมิที่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่อย่างแท้จริง
กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เร่งเดินหน้าขับเคลื่อนการดำเนินงาน ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 นี้ 3 ประเด็นหลัก คือ ประชาชนเชื่อมั่น เน้นให้ประชาชนดูแลตนเองเมื่อเจ็บป่วยด้วยยาสมุนไพรเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 บริการเป็นเลิศ ประชาชนสามารถเลือกใช้บริการแพทย์แผนไทย แพทย์ทางเลือก เมื่อเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5 และ ภูมิปัญญาสร้างคุณค่า คือ มูลค่าการบริโภคสมุนไพรในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 50,000 ล้านบาท
นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ในส่วนการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้วางแนวทางดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนการแพทย์ แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้แก่ 1.วิเคราะห์และหารูปแบบการให้บริการประชาชนที่เหมาะสมร่วมกับสหวิชาชีพ 2.กำหนด Service Package ที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ มุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพ และจัดทำแนวปฏิบัติ (Guideline) ตามกลุ่มเป้าหมายสำคัญ เช่น กลุ่มคนวัยทำงาน ผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs กลุ่มผู้ป่วยระยะกลาง และ ผู้ป่วยระยะประคับประคอง 3.กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินการในแต่ละ รพ.สต. 4. ใช้ศาสตร์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ในการส่งเสริมสุขภาพของประชาชนในกลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs และ 5.พัฒนาโปรแกรม
2/ในการดูแล…
-2-
ในการดูแลสุขภาพด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ที่เหมาะสมและสามารถเชื่อมต่อกับ กระทรวงสาธารณสุข ในอนาคต กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หวังว่าประชาชนที่อยู่ในชุมชน จะได้ประโยชน์ในการใช้บริการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ทั่วประเทศ คือ การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จะร่วมสร้างสุขภาวะที่ดีแก่ประชาชนในระดับปฐมภูมิได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงหน่วยบริการระดับปฐมภูมิในทุกสังกัดสามารถให้บริการประชาชนด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ไม่น้อยกว่า 2,000 แห่ง ทั่วประเทศ ต่อไป
ด้าน นายบุญชู จันทร์สุวรรณ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การถ่ายโอน รพ.สต. สู่การกำกับดูแลของ อบจ.นั้น การบริหารงบประมาณ จะรวดเร็วและคล่องตัวขึ้น บุคลากรใน รพ.สต. มีโอกาสความก้าวหน้าในสายงานเพิ่มมากขึ้น ในตำแหน่งชำนาญการพิเศษ ทำให้เกิดความมั่นคงในอาชีพมากยิ่งขึ้น และยังตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับภาคประชาชน เชื่อมั่นได้ว่า ทุก อบจ. จะทุ่มทุนทรัพย์อย่างเต็มที่ให้ รพ.สต.ทุกแห่ง ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิตาม พ.ร.บ. ระบบสุขภาพปฐมภูมิ ภายใน 3 ปี ส่งเสริมสนับสนุนการแพทย์แผนไทย และแพทย์แผนไทยประยุกต์ บริการกัญชาทางการแพทย์ ส่งเสริมและสนับสนุนงานด้านเวชศาสตร์ครอบครัว เวชกิจฉุกเฉิน และเวชศาสตร์วิถีชีวิต ผลักดันให้มีการจัดสรรงบประมาณของ อบจ. เป็นทุนเพื่อผลิตแพทย์และบุคลากรด้านเวชศาสตร์ครอบครัว ยกระดับการบริการสุขภาพปฐมภูมิทั่วประเทศ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งสู่ Smart Primary Care ช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นของภาคประชาชน ต่ออนามัยใกล้บ้าน และลดความแออัดการใช้บริการของโรงพยาบาลอีกด้วย
สำหรับกิจกรรมที่น่าสนใจภายในงานครั้งนี้ มีการอภิปราย หัวข้อ ระบบสนับสนุนการบริการประชาชนด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก และการใช้สมุนไพรทางการแพทย์แผนไทย ให้แก่ รพ.สต.ที่ถ่ายโอนให้แก่ อบจ.การอภิปราย
เรื่อง การแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก และสมุนไพรในหน่วยงานบริการสุขภาพปฐมภูมิ การบรรยาย เรื่อง ตำรับยาสมุนไพร และ ยาแผนไทยที่สามารถใช้ได้ใน รพ.สต. การบรรยาย เรื่อง การใช้น้ำมันกัญชาตำรับเมตตาโอสถและตำรับการุณย์โอสถ และการอภิปราย เรื่อง ประสบการณ์การใช้นำมันกัญชาทางการแพทย์ ในกรณีจำเป็นสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย เป็นต้น