ปทุมธานี เปิดศูนย์เลสิกธรรมศาสตร์ใช้เทคโนโลยีช่วยรักษาสายตาได้เร็วและความแม่นยำที่สุดในการรักษาสายตาคนไข้
เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2565 เวลา 10.30 น. ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ภก.ชาญชัย อุดมลาภธรรม ประธานบริหารบริษัท อาร์เอ็กซ์ จำกัด , รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ , รศ.พญ.วิมลวรรณ ตั้งปกาศิต หัวหน้าศูนย์ต้อกระจกและเลสิกธรรมศาสตร์ พร้อมทีมแพทย์ร่วมพิธีเปิดศูนย์เลสิกธรรมศาสตร์ใช้เทคโนโลยี WaveLight Refractive Suite รักษาสายตาได้เร็วที่สุดและมีเทคนิคการส่งผ่านข้อมูลที่ก้าวหน้าที่สุด เป็นเทคโนโลยีสามารถผสมผสานระหว่างความเร็วและความแม่นยำในการรักษาสายตาคนไข้ สืบเนื่องจากในช่วงแรกศูนย์เลสิกธรรมศาสตร์ได้เปิดบริการในปี 2549 ที่บริเวณชั้น 1 อาคารม.ร.ว.สุวพรรณ สนิทวงศ์ และทำการย้ายพื้นที่ เปลี่ยนเครื่องผ่าตัดให้ทันสมัยมากขึ้นในปี 2556 จนถึงปี 2563
และทำการปรับปรุงพื้นที่เป็นศูนย์ต้อกระจกและเลสิกธรรมศาสตร์ (TCLC) เปิดให้บริการผ่าตัดต้อกระจกและเลสิก โดยเริ่มเปิดให้บริการในเดือนตุลาคม 2565 เฉพาะในส่วนของต้อกระจกและในเดือนธันวาคม 2565 ได้เปิดให้บริการส่วนเลสิก บริการผ่าตัดทั้งในเวลาราชการและนอกเวลาราชการ โดยใช้เครื่องมือผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติ สั้น ยาว เอียง ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่จากประเทศเยอรมนี คือ WaveLight Refractive Suite และปรับรูปแบบบริการเป็นการให้บริการแบบพรีเมี่ยม เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ใช้บริการที่ต้องการความสะดวก รวดเร็ว และการรักษาที่ได้มาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล สำหรับศูนย์เลสิกธรรมศาสตร์ ได้วิวัฒนาการของการผ่าตัดปรับเปลี่ยนความโค้งของกระจกตาโดยเครื่องเลเซอร์ ได้มีการก้าวหน้าอย่างมาก เทคโนโลยีของเครื่องมือ Lasik ในปัจจุบันมีความแม่นยำสูง สามารถแก้ปัญหาสายตาสั้นและเอียงได้อย่างมีประสิทธิภาพและได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงเพราะสามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตและมอบอิสระแก่คนรุ่นใหม่ ที่ไม่ต้องการผูกติดกับแว่นตาและคอนแทคเลนส์
ทางด้าน บริษัท อาร์เอ็กซ์ จำกัด ร่วมมือกับแผนกจักษุ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ในการนำอุปกรณ์ที่มีความทันสมัยและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาทำงานร่วมกับทีมจักษุแพทย์ ตลอดจนช่วยสนับสนุนการเรียนการศึกษาของว่าที่จักษุแพทย์ในอนาคต เพื่อผลิตแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการแก้ปัญหาสายตาสั้น และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รศ.พญ.วิมลวรรณ ตั้งปกาศิต ผู้จัดการศูนย์ต้อกระจกและเลสิกธรรมศาสตร์ กล่าวว่า WaveLight Refractive Suite คือเทคโนโลยีจากประเทศเยอรมนี เป็นเครื่องที่ใช้เวลารักษาสายตาได้เร็วที่สุดและมีเทคนิคการส่งผ่านข้อมูลที่ก้าวหน้าที่สุด เป็นเทคโนโลยีที่สามารถผสมผสานระหว่างความเร็วและความแม่นยำในการรักษาสายตาคนไข้ ประกอบด้วยเครื่องแยกชั้นกระจกตาด้วยเลเซอร์ความเร็วสูง (WaveLight FS200, Femtosecond Laser) และเครื่องแก้ไขสายตาผิดปรกติด้วยเลเซอร์ (WaveLight EX500, Excimer Laser)
ซึ่งทำงานร่วมกันเพื่อการรักษาที่แม่นยำ, รวดเร็ว, ผลการรักษาที่ดีและสามารถวางแผนรักษาเป็นแบบเฉพาะบุคคล มีระบบ Advance data transfer (WaveNet) สำหรับส่งข้อมูลคนไข้จากเครื่องตรวจวิเคราะห์สภาพตาต่างๆ และวางแผนในการยิงเลเซอร์ เพื่อลดความผิดพลาดของขั้นตอนการตรวจรักษาและสะดวกรวดเร็วในการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่และแพทย์ผู้รักษา โดยการรักษาเริ่มจากการเก็บข้อมูลที่เฉพาะเจาะจงของคนไข้ รวมถึงข้อมูลภาพถ่ายจากเครื่องตรวจวิเคราะห์สภาพตา และส่งผ่านข้อมูลของคนไข้แต่ละคนผ่านทาง WaveNet ไปยังเครื่อง WaveLight EX 500, Excimer Laser จากนั้นระบบจะนำข้อมูลที่ได้รับมาคำนวณรูปแบบการแก้ไขสายตาสำหรับคนไข้คนนั้นๆ โดยเฉพาะ แล้วจึงส่งต่อข้อมูลไปที่เครื่อง WaveLight FS200, Femtosecond Laser ซึ่งเป็นเครื่องที่ใช้แสงเลเซอร์ในการตัดแยกชั้นกระจกตาแทนใบมีด จะเห็นได้ว่าข้อมูลของคนไข้จะเป็นข้อมูลชุดเดียวกันทั้งหมด เป็นการป้องกันการผิดพลาดในการส่งข้อมูลของคนไข้ สำหรับเครื่อง Wavelight FS200
มีระบบตรวจวัดอุปกรณ์ที่ใช้สัมผัสกับกระจกตาของคนไข้แต่ละคนทุกครั้งแบบอัตโนมัติก่อนที่จะตัดแยกชั้นกระจกตา เพื่อลดความคลาดเคลื่อนของความหนาของกระจกตาให้น้อยที่สุดเพียง 5 ไมครอน การที่มีระบบตรวจสอบนี้ส่งผลให้การตัดแยกกระจกตามีความเรียบสม่ำเสมอและแม่นยำ และการตัดแยกชั้นกระจกตานี้ใช้เวลาเพียง 6 วินาทีเท่านั้น WaveLight EX500, Excimer Laser มีความยาวคลื่น 193 nm. ความถี่ของการยิงเลเซอร์สูงถึง 500 เฮิรตซ์ (Hz) และระบบติดตามลูกตา (Eye Tracker) ที่ 1050 เฮิรตซ์ (Hz) สามารถให้การรักษาที่รวดเร็วโดยค่าสายตา 1D ใช้เวลาเพียง 1.4 วินาที และประหยัดเนื้อเยื่อกระจกตาทำให้จึงทำให้สามารถรักษาค่าสายตาได้สูงถึง -14D ทางเดินเลเซอร์แบบระบบปิดที่ช่วยควบคุมพลังงานของเลเซอร์ให้คงที่ เพื่อการแก้ไขค่าสายตาที่แม่นยำที่สุด
ภาพ/ข่าว ประภาพรรณ ขาวขำ/รายงาน