โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะ ที่ 3 กับ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะ ที่ 3 เป็นโครงการที่สำคัญตามนโยบายรัฐบาลโครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งก่อให้เกิดการกระตุ้นและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ซึ่งหน่วยงานรับผิดชอบประกอบด้วย การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สำนักงานท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด (สทร.) บริษัทกัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด (GMTP) บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (ITD) กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาการก่อสร้าง ฯ (PMSC) ซึ่ง โครงการตั้งที่ ต.มาบตาพุด อ.เมืองระยอง จ.ระยอง ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด บนเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 โดยให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน มีเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ถมทะเลหลังท่า เพื่อใช้งานประมาณ 550 ไร่
และพื้นที่บ่อเก็บกักตะกอนดินเลนระหว่างก่อสร้างประมาณ 450 ไร่ ความยาวหน้าท่ารวมกันประมาณ 2,200 เมตร ประกอบด้วย 1) งานส่วนพื้นที่ถมทะเลและสาธารณูปโภคพื้นฐาน (Infrastructure) ประกอบด้วย (1.1) งานขุดลอกร่องน้ำเดินเรือ (Navigation Channel) (1.2) แอ่งกลับเรือ (Maneuvering Basin) (1.3) งานถมทะเล (Reclamation) (1.4) งานก่อสร้างเขื่อนหินกันทราย (Revetment) (1.5) งานก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น (Breakwater) (1.6) ท่าเทียบเรือบริการ (1.7) งานระบบสาธารณูปโภค และงานอุปกรณ์ควบคุมการเดินเรือ 2) สำหรับการพัฒนาท่าเทียบเรือเพื่อรองรับการขนถ่ายสินค้าแบ่งเป็น (2.1) ท่าเทียบเรือสินค้าเหลว มีพื้นที่ 200 ไร่ ความยาวหน้าท่า 814 เมตร มีท่าเทียบเรือ จำนวน 2 ท่า (2.2) ท่าเทียบเรือก๊าซ มีพื้นที่ 200 ไร่ ความยาวหน้าท่า 1,415 เมตร มีท่าเทียบเรือ จำนวน 3 ท่า (2.3) คลังสินค้าหรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง พื้นที่ 150 ไร่ เป็นต้น (ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ https://maptaphut3.com )
สำหรับกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นั้น โครงการฯกำหนดมาตรการการมีส่วนร่วมของชุมชนและผู้มีส่วนได้เสียในโครงการฯ ตามมาตรการ EHIA มีการดำเนินการแล้ว ดังนี้ 1) การจัดตั้งคณะกรรมการกำกับติดตามตรวจสอบและปฏิบัติตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม 2) การจัดตั้งคณะกรรมการติดตามตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมและมวลชนสัมพันธ์ 3) การจัดตั้งกองทุนและคณะกรรมการบริหารมูลนิธิกองทุนหลักประกันความเสียหายฉุกเฉินและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยคณะกรรมการเป็นตัวแทนมาจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนผู้รับผิดชอบโครงการฯ ภาคประชาชน ชุมชน กลุ่มอาชีพประมง องค์กรท้องถิ่น หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบโครงการ ฯ และ ประชุมกันเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง และมีการสื่อสารประชาสัมพันธ์แจ้งแผนการดำเนินงาน ตอบคำถาม และ รับฟังความคิดเห็นของชุมชนก่อนการดำเนินงานก่อสร้างแต่ละขั้นตอนแก่กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียในโครงการฯ ตามมาตรการของ EHIA อย่างเคร่งครัด ซึ่งเป็นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่เริ่มต้นโครงการฯและตลอดระยะเวลาการก่อสร้างโครงการฯ