รมว.เฮ้ง เปิดบ้าน ต้อนรับกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี เผย นโยบายช่วงโควิด ช่วยแรงงาน – ธุรกิจอยู่ได้ เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็ว
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีครั้งที่ 10/2565 โดยมี นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน และผู้เข้าร่วมประชุมให้การต้อนรับ ซึ่งการประชุมครั้งนี้กระทรวงแรงงานได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพ ณ ห้องประชุมอำพล สิงหโกวินท์ ชั้น 6 อาคารอำนวยการ สำนักงานประกันสังคม จังหวัดนนทบุรี และการประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล
นายสุชาติ กล่าวว่า การประชุมกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีในครั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ซึ่งการประชุมดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีถือว่าเป็นบุคคลสำคัญที่มีบทบาทในการพิจารณาและประเมินผลการดำเนินการของผู้ช่วยรัฐมนตรี และเสนอแนะมาตรการอันเป็นประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี หรือของรัฐมนตรี ทั้งนี้ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้สถานประกอบการ และพี่น้องผู้ใช้แรงงานได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง ตลอดระยะ 2 ปี ที่ผมดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มีนโยบายและมาตรการช่วยเหลือพี่น้องลูกจ้าง ผู้ประกอบการที่สำคัญ
อาทิ ในปี 2564 ได้เปิดจุดตรวจโควิดแบบประจำจุดและตรวจเชิงรุกในโรงงาน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกจ้างเพื่อให้ภาคเอกชนยังคงดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งผลตรวจโควิด 409,972 คน ในเดือนพฤษภาคม 2564 แรงงานไม่ได้รับการฉีดวัคซีน จึงขอรับการสนับสนุนวัคซีนให้แก่ผู้ใช้แรงงานกว่า 11 ล้านคน ต่อรัฐบาล และได้ฉีดวัคซีนให้แรงงานแล้ว 3,962,206 โดส ในเดือนสิงหาคม 2564 โรงงานปิดตัวลงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในโรงงาน กระทรวงแรงงานจัดโครงการแฟคทอรี่ แซนบ๊อก บนฐานแนวคิดเศรษฐกิจศาสตร์และสาธารณสุขมุ่งเป้าภาคการผลิตส่งออกสำคัญทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ อาหาร ชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ใน 12 จังหวัด 730 โรงงาน มีแรงงานเข้าร่วม 407,770 คน ตรวจ RT-PCR พบผู้ติดเชื้อ 11,298 คน โดยทั้งหมดได้เข้าสู่กระบวนการรักษา และได้มีฉีดวัคซีนให้ทุกคน ผลสัมฤทธิ์จากโครงการทำให้โรงงานไม่มีการปิดตัวลง ภาคการผลิตส่งออกสูงสุดในรอบ 30 ปี
นายสุชาติ กล่าวต่อว่า การให้ความช่วยเหลือ SMEs เพื่อรักษาการจ้างงานให้ยังคงอยู่ โดยรัฐบาลอุดหนุนจำนวน 235,933 แห่ง ส่งเสริมการจ้างงานใหม่ของนายจ้าง 66,201 แห่ง ลูกจ้างได้รับการจ้างงาน มากกว่า 3.2 ล้านคน รวมเงินอุดหนุนมากกว่า 27 ล้านบาท ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคสูงขึ้น ทำให้พี่น้องแรงงานสามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งได้ประกาศใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 โครงการสัมมนาวิชาการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยระดับนานาชาติ นำเสนอผลงาน 41 ผลงาน โครงการงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ ครั้งที่ 34 มีผู้เข้าร่วมงานนิทรรศการ 13,775 ราย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาทักษะและ
การให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ขับขี่รถยนต์โดยสาธารณะ (แท็กซี่) ผู้จัดส่งอาหาร และผู้จัดส่งพัสดุ ระหว่าง สำนักงานประกันสังคม กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และบริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด มุ่งพัฒนานักขับเสริมทักษะอาชีพ เข้าถึงสิทธิประกันสังคม สร้างบริการประทับใจ โครงการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม ให้สิทธิแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการตามมาตรา 35 ช่วยให้คนพิการในพื้นที่ห่างไกล ได้รับโอกาสมีอาชีพ มีงานทำอย่างทั่วถึง สามารถพึ่งพาตนเอง และนอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังมีการดำเนินงานในอีกหลายเรื่อง ที่มุ่งหวังให้ประเทศไทยมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ผู้ใช้แรงงานมีความสุขมีคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยความมั่นคงและอย่างยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้ จากข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ (IMF) ซึ่งได้วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจโลก ฉบับเดือนตุลาคม 2565 พบว่า ไทยเป็นประเทศที่มีอัตราการว่างงาน “ต่ำที่สุดในโลก” แม้ในปีที่แล้วช่วงพีคของโควิด เรายังมีคนว่างงานเพียงร้อยละ 1.5 % ซึ่งเป็นรองเพียงคูเวตที่มีประชากรแค่ 4 ล้านคนซึ่งประเทศไทย เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศ ที่ IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเติบโต มี GDP เป็นบวก คือ จาก 2.8 เป็น 3.7 โดยในเอเชีย มีเพียงไทยและจีน 3.2 เป็น 4.4 เท่านั้น ที่ IMF คาดการณ์ว่า GDP จะเป็นบวก ไม่นับฮ่องกงและมาเก๊า ดังนั้น สะท้อนให้เห็นว่าผลพวงจากการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลต่างๆ ที่ผ่านมาในช่วงโควิด-19 ส่งผลทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด