AIS5G จับมือ วิทยาลัยเทคนิค ชลบุรี ออกแบบหลักสูตร 5Gส่งเสริมองค์ความรู้ เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถของบุคลากรครูและนักศึกษา เตรียมความพร้อมสู่การผลักดันแรงงานในพื้นที่ EEC

​AIS 5G จับมือ วิทยาลัยเทคนิค ชลบุรี ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล 5G เพื่อตอบสนองแรงงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ร่วมกับ ศูนย์ปัญญาประดิษฐ์เพื่ออุตสาหกรรม วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี (CTC IAI Center)

​นายวิศรุต พิศาล หัวหน้างานปฏิบัติการภูมิภาค ภาคตะวันออก เอไอเอส กล่าวว่า “AIS มีเป้าหมายในการนำเทคโนโลยี 5G มาพัฒนาเพื่อยกระดับประสบการณ์ดิจิทัล และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของทุกภาคส่วนในทุกมิติโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการศึกษา ที่นับว่าเป็นรากฐานสำคัญต่อการเติบโตของประเทศ ในอนาคต จึงทำให้ที่ผ่านมา AIS ทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาชั้นนำทั่วประเทศเพื่อเป็นการส่งต่อองค์ความรู้ และนำศักยภาพด้านดิจิทัลเทคโนโลยีของเราขยายผลให้เกิดการผลักดันแรงงานสู่ตลาดอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรม ในพื้นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งปัจจุบันได้ขยายเครือข่าย AIS5G ครอบคลุมแล้ว 100% ในบริเวณที่มีการใช้งาน รวมถึงเริ่มทดลอง ทดสอบ 5G Use case แล้วตั้งแต่ปีที่ผ่านมา”

​โดยครั้งนี้เราได้ร่วมมือกับ วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี ในการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้สร้างสรรค์ด้านเทคโนโลยี บ่มเพาะขีดความสามารถของนักศึกษา บุคลากรครูของวิทยาลัยฯ ให้มีทักษะด้าน 5G โดย AIS ได้ออกแบบหลักสูตร เกี่ยวกับเทคโนโลยี 5G สำหรับคุณครู นักศึกษา และ ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการทำงานร่วมกับระบบ AI ทั้ง 4 หัวข้อ คือ 5G Technology, 5G For Business, 5G Solution, 5G Use Case และเมื่อเรียนครบทุกหัวข้อเราจะมีการจัด Workshop Design Thinking 5G Solution for Smart Industrial ให้กับผู้เรียนได้ลงมือทำจริงกับทีมงานของ AIS ที่พร้อมแบ่งปันองค์ความรู้เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ก่อให้เกิดการพัฒนาร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมที่จะถ่ายทอด ส่งต่อองค์ความรู้ให้กับนักศึกษา และ สถานประกอบการรุ่นถัดไปได้ในอนาคต


​ทางด้านของนาย นิทัศน์ วีระโพธิ์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคชลบุรี กล่าวว่า “การทำความร่วมมือกับ AIS ในครั้งนี้ ลำดับแรกคือการส่งต่อความรู้ไปสู่ผู้สอนคือ บุคลากรครู ซึ่งทางวิทยาลัยฯ มีโครงการยกระดับคุณครูให้ได้เรียนรู้เทคโนโลยี 5G รวมถึงวิธีคิด นวัตกรรมใหม่ๆ และโซลูชั่นต่างๆที่เอไอเอสมี
​นอกจากนี้ วิทยาลัยฯ ในฐานะที่เป็นสถานศึกษาก็มีหน้าที่ผลิตกำลังคนให้ตอบสนองต่อตลาดแรงงาน โดยจะส่งต่อความรู้ที่บุคลากรครูได้รับไปยังผู้เรียน คือ นักศึกษา ที่เรามุ่งเน้นการเรียนแบบทวิภาคีมากขึ้น ซึ่งเด็กเหล่านี้จะต้องเข้าไปอยู่ในโลกอุตสาหกรรมมากขึ้นในอนาคต ถือว่าการทำความร่วมมือเอไอเอส เป็นการเตรียมความพร้อมเบื้องต้นให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี 5G โดยเฉพาะระบบอุตสาหกรรมอัตโนมัติ หรือ ที่เราเรียกว่า Industry 4.0 ซึ่งด้วยศักยภาพของเอไอเอส รวมถึงสถานประกอบการต่างๆในอุตสาหกรรม ที่มีประสบการณ์จริง จะทำให้องค์ความรู้ทันต่อสถานการณ์มากกว่า


​นายนิทัศน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “และถ้าองค์ความรู้ของครูผู้สอนเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมได้เช่นนี้ นอกจากจะสามารถส่งต่อไปยังผู้เรียนได้อย่างดีแล้ว ยังเท่ากับเป็นการยกระดับองค์ความรู้ให้กับสถานประกอบการที่กำลังคิดจะยกระดับเป็น Industry 4.0 ให้มีความมั่นใจยิ่งขึ้นว่า ตลาดแรงงานมีกำลังคนที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องเทคโนโลยี 5G รองรับอย่างเพียงพอ และ วิทยาลัยเทคนิค ชลบุรี คือ ศูนย์รวมความพร้อมดังกล่าว และพร้อมจะเป็นสถานที่ฝึกอบรมเพิ่มศักยภาพเสริมองค์ความรู้ของกำลังคนในอุตสาหกรรมพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ให้สามารถนำไปต่อยอดพัฒนาโรงงานให้สามารถแข่งขันได้ท่ามกลางสถานการณ์ที่ท้าทาย”


นายวิศรุต กล่าวในช่วงท้ายว่า “AIS ยังคงเดินหน้าตามวิสัยทัศน์ในการเป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยีดิจิทัล และ มีเป้าหมายการทำงานที่ชัดเจน ต่อการนำศักยภาพของ 5G มาสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ ทำให้วันนี้โครงสร้างพื้นฐานหรือ Digital Infrastructure มีความสมบูรณ์ พร้อมให้บริการกับภาคอุตสาหกรรม โดยยึดแนวทางการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ที่หลากหลายเพื่อสร้างความสมบูรณ์ของ Digital Ecosystem เพราะเราเชื่อว่าความสามารถและพลังของพาร์ทเนอร์จะช่วยส่งเสริมธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมของประเทศให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นได้แบบทวีคูณ”

Related posts