SCGC ตะลุยเวทีโลก บุกงาน K 2022 จัดเต็มนวัตกรรมตอบโจทย์เมกะเทรนด์ ส่ง SCGC GREEN POLYMER นวัตกรรมพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รุกตลาดโลก

SCGC ตะลุยเวทีโลก บุกงาน K 2022 จัดเต็มนวัตกรรมตอบโจทย์เมกะเทรนด์ ส่ง SCGC GREEN POLYMER นวัตกรรมพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รุกตลาดโลก

เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ เอสซีจีซี (SCGC) ผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์ครบวงจรเพื่อความยั่งยืนรายใหญ่ของไทยและภูมิภาคอาเซียน อวดโฉมนวัตกรรมพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Innovation) และนวัตกรรมเคมีภัณฑ์ตอบโจทย์เมกะเทรนด์โลก ภายใต้แนวคิด “INNOVATION THAT’S REAL” ในงาน K 2022 งานจัดแสดงนวัตกรรมสินค้าพลาสติกและยางที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ เมืองดุสเซลดอร์ฟ ประเทศเยอรมนี ระหว่างวันที่ 19 – 26 ตุลาคม 2565 พร้อมร่วมกับ Norner บริษัทชั้นนำด้านการวิจัยและพัฒนาพลาสติกระดับโลก ประเทศนอร์เวย์ และ Alliance to End Plastic Waste (AEPW) องค์กรความร่วมมือระดับโลกเพื่อลดปัญหาพลาสติกใช้แล้ว จัดสัมมนาเรื่อง Circular Packaging for Real เทรนด์และโซลูชันบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม


ดร.สุรชา อุดมศักดิ์ รองผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่สายงานนวัตกรรม บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC กล่าวว่า “งาน K 2022 มีผู้เข้าร่วมจัดแสดงนวัตกรรมกว่า 3,300 รายจากทั่วโลก ซึ่งในปีนี้ SCGC ได้นำเสนอนวัตกรรมพลาสติก ภายใต้แนวคิด “INNOVATION THAT’S REAL” นวัตกรรมเคมีภัณฑ์เพื่อทุกความเป็นไปได้ เพื่อตอบโจทย์เมกะเทรนด์โลก มุ่งเน้นนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Green Innovation ภายใต้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน การลดใช้พลังงาน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยได้พัฒนาสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (High Value Added Products & Services – HVA) ตอบรับ 5 อุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่องตามเมกะเทรนด์โลก ได้แก่ กลุ่มบรรจุภัณฑ์ ยานยนต์ โครงสร้างพื้นฐาน สุขภาพ และโซลูชันด้านพลังงาน


โดยมีไฮไลต์ที่นำไปจัดแสดง เช่น นวัตกรรมพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้แบรนด์ “SCGC GREEN POLYMER” เพื่อผลิตบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก มุ่งใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากแบรนด์สินค้าชั้นนำ นวัตกรรมพลาสติกเพื่อชิ้นส่วนรถยนต์ที่บางลงและน้ำหนักเบาลง รวมถึงวัสดุคอมโพสิตที่เป็นวัสดุเพื่ออนาคต ช่วยประหยัดพลังงาน นวัตกรรมโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ SCGC Floating Solar Solutions เพื่อตอบโจทย์พลังงานสะอาด เกิดการใช้พลังงานทดแทน หรือพลังงานหมุนเวียน เป็นต้น”

รองผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่สายงานนวัตกรรม เผยเพิ่มเติมว่า “การพัฒนาสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม หรือ HVA เป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลักของ SCGC โดยมีงานวิจัยและพัฒนาเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ ซึ่งในปีที่ผ่านมา SCGC มีเปอร์เซ็นต์ค่าใช้จ่ายสำหรับงานวิจัย(1) ต่อรายได้จากการขาย 0.7% มีบุคลากรด้าน R&D กว่า 560 คน มีสิทธิบัตรรวมทั้งสิ้นกว่า 473 ฉบับ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564) ทั้งนี้ SCGC มีแนวทางการดำเนินงานด้านวิจัยและพัฒนาในหลายรูปแบบ ได้แก่ การคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีด้วยตนเอง การร่วมมือกับคู่ค้าในเชิงลึกเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมร่วมกัน และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยกับนักวิจัยและสถาบันชั้นนำระดับโลก เช่น มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เป็นต้น”


ภายในงานฯ SCGC ยังได้เปิดตัวศูนย์พัฒนานวัตกรรมและสินค้า i2P Center (Ideas to Products) สู่ตลาดโลกเป็นครั้งแรก โดยนำความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านต่าง ๆ มาช่วยสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้า เจ้าของแบรนด์สินค้า คู่ค้า และองค์กรต่าง ๆ ตลอดจนการคิดค้นพัฒนานวัตกรรมร่วมกันเพื่อตอบโจทย์ตลาดในอนาคต ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญของการพัฒนานวัตกรรมเชิงพาณิชย์ ตลอดจนได้แนะนำ Long Son Petrochemicals (LSP) คอมเพล็กซ์ปิโตรเคมีครบวงจร ประเทศเวียดนาม ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ทำให้เห็นภาพและรายละเอียดของโครงการฯ อย่างใกล้ชิด ซึ่งขณะนี้การก่อสร้างโครงการ LSP มีความคืบหน้าตามแผนงานที่วางไว้ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566
นอกจากนี้ SCGC ยังจัดสัมมนาในหัวข้อ Circular Packaging for Real ร่วมกับ Norner บริษัทชั้นนำด้านการวิจัยและพัฒนาพลาสติกระดับโลก ประเทศนอร์เวย์

และ Alliance to End Plastic Waste (AEPW) องค์กรความร่วมมือระดับโลกเพื่อลดปัญหาพลาสติกใช้แล้ว โดยร่วมพูดคุยถึงเทรนด์และโซลูชันบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ความร่วมมือในอุตสาหกรรมเพื่อหาโซลูชันให้แก่บรรจุภัณฑ์ รวมถึงแนวทางการพัฒนานวัตกรรมพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในอนาคต โดยมีตัวแทนจาก AEPW, Amcor, Erema, Norner, SCGC และ Sirplaste ร่วมเสวนาในครั้งนี้
คาดว่าจะมีผู้เข้าชมนวัตกรรมรวมถึงเป็นโอกาสที่จะพบปะคู่ค้าจากทั่วโลกกว่า 165 ประเทศ หรือ ไม่ต่ำกว่า 225,000 ราย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ขึ้นรูปผลิตภัณฑ์พลาสติกและยาง รวมถึงเจ้าของแบรนด์สินค้า นักพัฒนา นักออกแบบ ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาทิ ยานยนต์ บรรจุภัณฑ์ สินค้าอุปโภคบริโภค อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือแพทย์ พลังงานทดแทน และโครงสร้างพื้นฐาน

Related posts