เชียงใหม่-เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอย เพื่อแปรสภาพเป็นเชื้อเพลิงขยะ (RDF) และผลิตกระแสไฟฟ้าองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่
เมื่อวันศุกร์ที่ 30 กันยายน 2565 เวลา 09.00-12.00 น. ณ หอประชุมศรีศุภอักษร วัดพระธาตุดอยสะเก็ด อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ บริษัท เชียงใหม่ เวสท์ ทู เอ็นเนอร์จี จำกัด และ บริษัท เอ็นทิค จำกัด บริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและทำความเข้าใจกับประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย โครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอย เพื่อแปรสภาพเป็นเชื้อเพลิงขยะ (RDF) และผลิตกระแสไฟฟ้า ของ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนาย วรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุม
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอแม่ริม อำเภอแม่ออน อำเภอสันกำแพง อำเภอสารภี อำเภอหางดง อำเภอสันทราย อำเภอแม่แตง และอำเภอดอยสะเก็ด จำนวนรวม 66 แห่ง ตกลงทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการจัดการขยะมูลฝอยซึ่งมีปริมาณ 650 ตันต่อวัน โดยนำส่งไปกำจัด ณ ศูนย์การจัดการขยะมูลฝอยแบบครบวงจร ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 บ้านป่าตึงน้อย ตำบลป่าป้อง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ในการดูแลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่
สำหรับศูนย์การจัดการขยะมูลฝอยแห่งนี้ สร้างแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการรับกำจัดขยะมูลฝอยด้วย กระบวนการขัดแยกขยะรีไซเคิล กระบวนการหมักปุ๋ยชีวภาพจากขยะอินทรีย์ ส่วนขยะที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้จะดำเนินการอัดเป็นแท่งลดขนาด และบีบเอาน้ำชะขยะออกก่อนทำการฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล มาตั้งแต่ พ.ศ. 2553 ปัจจุบันเครื่องจักรในศูนย์การจัดการขยะมูลฝอยมีสภาพชำรุดทรุดโทรม องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ จึงมีแนวความคิดให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินกิจการบริหารการจัดการขยะมูลฝอย เพื่อพัฒนาศักยภาพการจัดการขยะมูลฝอยของศูนย์การจัดการขยะมูลฝอยให้ดีขึ้น และสามารถรองรับขยะมูลฝอยได้เพียงพอ
โดยที่ไม่ต้องขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐมาดำเนินการ และได้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนที่มีความเหมาะสม และ บริษัท เชียงใหม่ เวสท์ ทู เอ็นเนอร์จี จำกัด เป็นเอกชนที่ได้รับการพิจารณาให้เข้ามาดำเนินโครงการ ด้วยการนำเอาขยะมูลฝอยชุมชนมากำจัดด้วยวิธีเผาไหม้ให้เกิดความร้อนแล้วนำความร้อนที่ได้ไปผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยอย่างถาวร ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ เนื่องจากมีการกำหนดให้ติดตั้งระบบบำบัดมลพิษทางอากาศ และการติดตามตรวจสอบมลพิษจากปล่องอย่างต่อเนื่อง ช่วยส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนบริเวณพื้นที่ที่ใกล้เคียงให้มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตดีขึ้น ตลอดจนช่วยลดงบประมาณในการบริหารจัดการขยะ อีกทั้งยังเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าภายในจังหวัดเชียงใหม่อีกด้วย
สำหรับผลประโยชน์จากโครงการที่จะเกิดกับชุมชนเมื่อเปิดดำเนินงาน ได้แก่ การนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ และเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า เสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าภายในจังหวัดเชียงใหม่ โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในโครงการส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าวิธีการนำขยะมาฝั่งกลบ มีระบบควบคุมและป้องกันมลพิษเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน รวมทั้งมีการจัดตั้งกองทุนพัฒนารอบโรงไฟฟ้าให้กับชุมชนตามระเบียบของคณะกรรมการกำกับกิจกรรมพลังงานเพื่อนำไปใช้เป็นสาธารณประโยชน์ของชุมชนที่อยู่รอบโรงไฟฟ้า ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ประมาณไตรมาสที่ 3 ของ พ.ศ. 2566 และสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในไตรมาสที่ 4 ของ พ.ศ. 2568
ในการประชุมครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยประชาชนในพื้นที่ 17 หมู่บ้านในตำบลป่าป้อง ตำบลแม่โป่ง และตำบลเชิงดอย รวมถึงหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ระดับจังหวัด/อำเภอ/ท้องถิ่น ในจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยผู้แทนสื่อมวลชน กว่า 900 คน ผู้เข้าร่วมประชุมได้มีการซักถาม แสดงข้อวิตกกังวล และเสนอความคิดเห็นต่อโครงการอย่างกว้างขวาง
พัฒนชัย/เชียงใหม่