เพื่อไทย ชี้รัฐบาล อยู่มา 8 ปี ‘ยิ่งแก้ น้ำยิ่งท่วม’ แนะเพิ่มบทบาท ‘ศูนย์เตือนภัยแห่งชาติ’ เตือน ปชช.ให้มีประสิทธิภาพ – ว่าที่ ส.ส.กทม. ส.ก.เพื่อไทย จับมือสำรวจท่อรอบกรุง เปิดทางรอระบายน้ำ

เพื่อไทย ชี้รัฐบาล อยู่มา 8 ปี ‘ยิ่งแก้ น้ำยิ่งท่วม’ แนะเพิ่มบทบาท ‘ศูนย์เตือนภัยแห่งชาติ’ เตือน ปชช.ให้มีประสิทธิภาพ – ว่าที่ ส.ส.กทม. ส.ก.เพื่อไทย จับมือสำรวจท่อรอบกรุง เปิดทางรอระบายน้ำ

ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานด้านนโยบายปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการน้ำ พรรคเพื่อไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในปี 2565 ภายใต้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี บริหารประเทศมา 8 ปี ทำให้ประเทศตกอยู่ในสภาพ ‘ยิ่งแก้ น้ำยิ่งท่วม’ สาเหตุเป็นเพราะ

1.กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท เน้นสร้างถนนให้สูงขึ้น เพื่อหนีน้ำ ทำให้ถนนกลายเป็นเขื่อนกั้นน้ำ ป้องกันไม่ให้น้ำท่วมข้างล่าง แต่ด้านบนท่วมหมด เป็นการมองเพียงมิติวิศวกรรม ไม่ได้มองในเรื่องของการระบายน้ำ

2.กรมโยธาธิการและผังเมือง เน้นทำกำแพงป้องกันตลิ่งจนเกิดปัญหา ‘ล้ำลำน้ำ’ ทำให้คลองมีความแคบลง การระบายน้ำทำได้ยากขึ้น ทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ท้ายน้ำ

3.ฝ่ายทหารขยันขุดลอกคลอง เอาดินที่ขุดออกมาเสริมกั้นหรือแปะสองข้างตลิ่ง ทำให้ตลิ่งแคบ คลองแคบลง การระบายน้ำจึงเป็นไปได้ยาก

ดังนั้น รัฐบาลไม่ควรสร้างแหล่งน้ำและระบบชลประทานที่ไม่มีประสิทธิภาพ และต้องหยุดบริหารแบบ ‘สะเปะสะปะ’ เพราะจะทำให้เกิดสถานการณ์ ‘เดี๋ยวท่วมเดี๋ยวแล้ง’ ควรบริหารแต่ละลุ่มน้ำให้ดีก่อน และผันน้ำอย่างเป็นระบบ ขอให้ระมัดระวัง ‘น้ำฟ้า’ มากกว่า’ น้ำท่า’ เป็นหลัก เวลานี้สภาพอากาศแปรปรวนมาก ยากต่อการคาดคะเน จึงเลี่ยงไม่ได้ที่ประเทศไทยจะเสี่ยงวิกฤต ซึ่งการรับมือและการจัดการกับสถานการณ์ไม่ปกติแบบนี้ จะคิดแบบเดิมไม่ได้ เตือนไทยเตรียมรับมือสถานการณ์ขั้นเลวร้ายที่สุด เช่น ระเบิดฝน (Rain Bomb) แบบที่ขึ้นแล้วในเกาหลีและปากีสถาน สามารถเกิดในไทยได้

ดร.ปลอดประสพ กล่าวอีกว่า ขณะที่การรายงานและเตือนภัยของรัฐบาล ควรปรับปรุงอย่างเร่งด่วน เพราะที่ผ่านมาทำแบบ ‘ต่างคนต่างพูด’ การรายงานและการเตือนภัยเป็นไปคนละทิศคนละทาง กรมอุตุวิทยา พูดเรื่องอากาศ และน้ำฝน , กรมชลประทาน พูดเรื่องน้ำท่า, สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA พูดเรื่องภาพถ่ายทางอากาศ ทำให้ประชาชนเอาภาพมาต่อกันไม่ได้ ดังนั้น รัฐบาลมีความจำเป็นต้องเพิ่มบทบาทการรายงานและเตือนภัยให้กับ ‘ศูนย์เตือนภัยแห่งชาติ’ เพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนอย่างรอบด้าน หน่วยงานนี้ตนเองเป็นผู้ก่อตั้ง เพื่อทำหน้าที่สื่อสารให้ประชาชนเข้าใจ และจัดการมหาวิกฤต 2554 มาแล้ว เสียดายที่หน่วยงานนี้ปัจจุบันไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร

“หากประเมินวันนี้ แม้สถานการณ์ไม่น่ากังวลเหมือนปี 2554 แต่การที่พายุมาช้า กลับยิ่งเป็นสัญญาณอันตรายมากกว่าเดิม สถิติและธรรมชาติไม่เคยโกหกใคร จึงขอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเตรียมรับมือ อย่าชะล่าใจ ควรวางแผนเตรียมการรับมือ เพื่อความปลอดภัยของชีวิตประชาชน หากเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ประเทศไทยจะไม่ท่วม ไม่แล้ง ประชนชนไทยจะต้องมีน้ำกิน น้ำใช้ไม่ขาดแคลน” ดร.ปลอดประสพ กล่าว

นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการประสานงานด้านการเมืองพื้นที่กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พายุที่ยังเหลืออยู่และอาจทำให้เกิดฝนตกหนักในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ใกล้พื้นที่ กทม. ซึ่งอาจจะกระทบกับ 11 จังหวัดในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เช่น ลพบุรี ปทุมธานี และ กทม. ทำให้คลองต่างๆ ใน กทม. อาจจะต้องรองรับน้ำต่อ เช่น คลองเปรมประชากร และฝั่งตะวันออกของ กทม. ประตูระบายน้ำแต่ละจุดอาจจะมีการเปิดประตูระบายน้ำไม่เท่ากัน ตามลักษณะพื้นที่แบบลอนกระเบื้องของ กทม.อาจทำให้เกิดน้ำท่วมขังในบางพื้นที่ได้

ดังนั้น ส.ส. กทม. รวมทั้ง ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. และ ส.ก.ของพรรคเพื่อไทย ซึ่งทำงานใกล้ชิดประชาชน จะร่วมกันเฝ้าจับตา ประสานความร่วมมือกันเตรียมความพร้อมรับมืออย่างใกล้ชิด โดยจะได้ดำเนินการลอกท่อระบายน้ำเองในบางเขต ในวันที่ 3 กันยายน 2565 เพื่อเปิดทางรอน้ำที่อาจจะไหลเข้าสู่ระบบการระบายน้ำใน กทม. ลดความเดือดร้อนกับพี่น้องประชาชนพร้อมกับได้มอบผลสรุปการศึกษา ‘โครงการศึกษาการพัฒนาเมืองฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร’ ให้กับรัฐบาล ซึ่งได้ทำการศึกษาการบริหารจัดการน้ำในกรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออก ซึ่งมี 6 เขต ได้แก่ คลองสามวา คันนายาว มีนบุรี ลาดกระบัง สะพานสูง หนองจอก จัดทำโดยมูลนิธิคนรักเมืองมีน หอการค้าไทย-จีน กรุงเทพมหานคร ผู้แทนจากหน่วยราชการ นักวิชาการ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องแล้วเสร็จในปี 2564 สามารถนำไปดำเนินการได้ทันที

“น้ำท่วมครั้งหนึ่ง ต้องใช้งบประมาณในการฟื้นฟูจำนวนมาก พรรคเพื่อไทยมีความเป็นห่วงสถานการณ์ จึงได้มอบผลการศึกษาเล่มนี้ ให้กับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ไปแล้ว หากท่านเอาผลการศึกษาไปเร่งจัดทำอย่างจริงจัง เราจะสามารถป้องกันน้ำท่วมได้” นายวิชาญ กล่าว

Related posts