“เฉลิมชัย”หารือแคนาดากระชับความร่วมมือด้านการเกษตรขยายส่งออกสินค้าเกษตร 2 หมื่นล้าน

“เฉลิมชัย”หารือแคนาดากระชับความร่วมมือด้านการเกษตรขยายส่งออกสินค้าเกษตร 2 หมื่นล้าน

 

วันที่ 16 ส.ค.65 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ ดร.ซาราห์ เทย์เลอร์ เอกอัครราชทูตแคนาดา ประจำประเทศไทย (H.E. Dr. Sarah Taylor) (Ambassador of Canada to the Kingdom of Thailand) ร่วมหารือการส่งเสริมและขยายความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างกัน โดยมี นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายธนา ชีรวินิจ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม ณ ห้องรับรองกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

สำหรับการหารือในครั้งนี้ ไทยและแคนาดาพร้อมร่วมมือในเรื่อง Smart agriculture-Canadian technology ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายการขับเคลื่อนงานด้านเกษตรอัจฉริยะ โดยมุ่งหวังที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาสนับสนุนกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเกษตรในปัจจุบัน ให้มุ่งสู่เกษตร 4.0 มีเป้าหมายสำคัญที่มุ่งเน้นให้เกิดการทำเกษตรแบบทำน้อยได้มาก ใช้ทรัพยากรในการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพ ลดต้นทุน ลดการสูญเสีย และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้มากขึ้น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยกล่าวขอบคุณฝ่ายแคนาดาสำหรับความร่วมมือในโครงการ Offshore Program ซึ่งเป็นโครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการด้านความปลอดภัยอาหาร ระหว่างองค์การตรวจสอบอาหารของแคนาดา (Canadian Food Inspection Agency: CFIA) และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)

เพื่อให้ประเทศคู่ค้าสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานด้านความปลอดภัยอาหารของแคนาดาได้อย่างถูกต้อง และป้องกันอาหารที่ไม่ปลอดภัยเข้าสู่ตลาด โดยเน้นด้านการตรวจสอบและประเมินความปลอดภัยอาหาร การตรวจสอบสถานประกอบการ และกิจกรรมความช่วยเหลือด้านเทคนิค โดยที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน มกอช. และ CFIA ได้จัดการแลกเปลี่ยนด้านวิชาการด้านความปลอดภัยอาหาร จำนวน 4 ครั้ง และอยู่ระหว่างการประสานงานเพื่อหารือถึงการขยายความร่วมร่วมมือระหว่างกันในการจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัยอาหารตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งรวมถึงการผลักดันการปฏิบัติตามกฎระเบียบ การเฝ้าระวังและตรวจติดตาม และการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ฝากแคนาดาให้สนับสนุนการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ครั้งที่ 7 ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเป็นเจ้าภาพในวันที่ 26 สิงหาคม 2565 นี้
ทั้งนี้ แคนาดาเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 32 ของไทย และเป็นคู่ค้าสินค้าเกษตรอันดับที่ 21 มีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตร ไทย-แคนาดา ปี 2564 รวม 23,938 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 30.28 ของมูลค่าการค้าระหว่างไทยและแคนาดา) โดยไทยส่งออกมูลค่า 19,519 ล้านบาท และไทยนำเข้า 4,419 ล้านบาท สินค้าเกษตรที่ไทยส่งออกไปแคนาดาที่สำคัญ ได้แก่ 1) ปลาทูน่ากระป๋อง 2) ข้าว 3) ยางธรรมชาติฯ (ทีเอสเอ็นอาร์) 4) เต้าหู้ 5) ไก่ และ 6) กุ้งกุลาดำ ตามลำดับ และสินค้าเกษตรที่ไทยนำเข้าจากแคนาดา ได้แก่ 1) ข้าวสาลีและเมสลิน 2) ถั่วแหลือง 3) ซุปที่มีเนื้อสัตว์ 4) ถั่วลั่นเตา  5) กากน้ำมัน (ออยล์เค้ก) และ 6) มันฝรั่ง

“แคนาดาเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทย โดยสินค้าเกษตรไทยที่มีศักยภาพ และเป็นที่ต้องการในแคนาดา เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง ข้าว ไก่ กุ้ง และยางพารา จึงมั่นใจว่าผู้บริโภคชาวแคนาดาจะได้บริโภคสินค้าเกษตรและอาหารของไทยที่มีความปลอดภัยและได้มาตรฐานสากล โดยกระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญกับการผลิตตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ซึ่งความมั่นคงทางอาหารถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของผลิตภัณฑ์ทางอาหาร จึงได้กำหนดนโยบาย 3S (ความปลอดภัยทางอาหาร (Safety) ความมั่นคง (Security) และความยั่งยืนของทรัพยากรและนิเวศทางการเกษตร (Sustainability)) ซึ่งจะเป็นหลักประกันในการรับรองคุณภาพอีกทางหนึ่ง จึงได้ฝากให้ท่านเอกอัครราชทูตฯ ช่วยประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรและอาหารของไทย รวมถึงแนวทางการดำเนินงานของรัฐบาลไทยให้แก่ชาวแคนาดามั่นใจต่อสินค้าเกษตรของไทยต่อไปด้วย”ดร.เฉลิมชัย กล่าว.

Related posts