ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ถวายคัมภีร์เทศน์เฉลิมพระเกียรติ บทพระธรรมเทศนาเฉลิมพระธรรมบารมีใน “อุภินนมัตถจรกถา” เฉลิมพระธรรมบารมี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง แด่เจ้าคณะอำเภอ ในจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อนำไปแสดงพระธรรมเทศนา เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 8 สิงหาคม 2565 ที่ศาลาการเปรียญวัดกลาง (พระอารามหลวง) ต.กาฬสินธุ์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ พระครูวรธรรมธัช ดร. เจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ เจ้าอาวาสวัดกลาง (พระอารามหลวง) เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พิธีถวายคัมภีร์เทศน์เฉลิมพระเกียรติ บทพระธรรมเทศนาเฉลิมพระธรรมบารมีใน “อุภินนมัตถจรกถา” เฉลิมพระธรรมบารมี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 โดยมีเจ้าคณะอำเภอทั้งธรรมยุต และมหานิกายทุกอำเภอรับถวาย และมีส่วนราชการ ร่วมพิธีอย่างพร้อมเพรียง
โดยคัมภีร์เทศน์เฉลิมพระเกียรติ บทพระธรรมเทศนาเฉลิมพระธรรมบารมีใน “อุภินนมัตถจรกถา” เฉลิมพระธรรมบารมี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ดังกล่าว นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ ได้เข้ารับประทาน เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยรับมอบจากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก เสด็จลง ณ พระวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพฯ ก่อนที่จะกำหนดจัดพิธีถวายแด่เจ้าคณะอำเภอทั้ง 18 อำเภอ และนำไปถวายวัดทุกวัดใน จ.กาฬสินธุ์ จำนวน 970 วัด เพื่อนำไปแสดงพระธรรมเทศนา ให้พุทธศาสนิกชนได้สดับ และน้อมเกล้า ฯ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทุกวันธรรมสวนะหรือวันพระตลอดทั้งปี
สำหรับบทพระธรรมเทศนาเฉลิมพระธรรมบารมี “อุภินนมัตถจรกถา” (อุ-พิน-นะ-มัด-ถะ-จะ-ระ-กะ-ถา) เป็นบทพระธรรมเทศนาแสดงอรรถาธิบายพระบรมพุทโธวาทของสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าด้วยความประพฤติให้สำเร็จประโยชน์ทั้งสองฝ่าย คือประโยชน์เพื่อตนและเพื่อผู้อื่น ด้วยการอบรมเจริญคุณธรรมสำคัญ 3 ประการให้มีพร้อมขึ้นในตน ได้แก่ “ศีล” คือการรักษากายวาจาให้เป็นปกติเรียบร้อย “ปัญญา” คือความฉลาดรอบรู้ หรือความรู้ชัดในเหตุและผล และ “สุตะ” คือการศึกษาเล่าเรียน เป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก
ทั้งนี้ ธรรมะทั้ง 3 ประการ คือ ศีล ปัญญา และสุตะ นี้ ต่างอาศัยกันและกันเป็นไปจึงจะส่งผลสมบูรณ์ ให้ได้บำเพ็ญประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นได้ทั้งสองสถาน ถ้าประชาชนสามารถเจริญธรรมะทั้ง 3 ประการให้พรั่งพร้อม ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนและแก่สังคมส่วนรวม ย่อมเป็นการฉลองพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้สมดังพระราชปณิธานแห่งธรรมราชินี