ศ.สุชาติ! ไม่เห็นด้วยที่มีผู้เสนอให้ขึ้นดอกเบี้ยเยอะๆ เพื่อสกัดเงินเฟ้อ เพราะไทยยังอยู่ในวัฏจักรเศรษฐกิจที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัว
ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า
1.เราต้องแยกแยะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นว่า เป็นด้านพิมพ์เงินมาใช้มากเกินไปแบบสหรัฐฯ (Demand pull inflation) หรือด้านต้นทุนนำเข้า (Cost push inflation) ออกจากกัน ประเทศไทยเป็น Cost push inflation หากขึ้นดอกเบี้ย ก็จะลดเงินเฟ้อได้น้อยมาก ราคาน้ำมัน, ราคาปุ๋ยก็คงไม่ลดลง แต่จะทำเศรษฐกิจที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัวกลับไปถดถอย ทำให้ประชาชนยากจนลงเพราะต้องจ่ายดอกเบี้ยมากขึ้น เศรษฐกิจไทยจะแย่ลง คนตกงานและรายได้ประชาชนลดลง
2.รัฐบาลต้องดูแลประชาชนให้มีงานทำ มีรายได้เพิ่มขึ้นเร็วกว่าเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น การแนะนำให้ขึ้นดอกเบี้ยมากๆ เพื่อ (ก) เพิ่มต้นทุนการกู้ยืมของประชาชน ลดการบริโภค ลดการลงทุน ลดรายได้ภาษีรัฐบาล (ข) เพื่อทำค่าเงินบาทให้แข็งขึ้น เพื่อลดความสามารถในการส่งออกและในการดึงดูดคนต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยว ทั้ง 2 ประการจะทำให้เศรษฐกิจจริง (GDP) ลดลง ทำให้ประเทศไม่พัฒนา ประชาชนไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ และยากจนลงมากขึ้น
3.ในช่วงนี้จะให้ดี เพื่อลดเงินทุนระยะสั้นไหลออก ก็อาจขึ้นดอกเบี้ยน้อยๆ แบบค่อยเป็นค่อยไป โดยดูสถานการณ์โลก เพื่อลดส่วนต่างดอกเบี้ยลงบ้าง แต่ไม่จำเป็นต้องให้ดอกเบี้ยสูงเท่าสหรัฐฯ ทั้งนี้เพื่อให้ค่าเงินบาทไม่แข็งค่าเกินไป เพื่อรักษาอัตราการเพิ่มการส่งออกและการท่องเที่ยวจากต่างชาติ, เพื่อเพิ่มรายได้ประเทศ เพิ่มรายได้ประชาชนและเพิ่มการลงทุน และควรเพิ่มอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ให้เกินอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ศ.สุชาติ กล่าว