ลำปาง-มทบ.32 แถลงข่าวการประกวดการถ่ายภาพ “มุมรัก บ้านป่องนัก ค่ายสุรศักดิ์มนตรี”
มณฑลทหารบกที่ 32 จัดงานแถลงข่าวแก่สื่อมวลชนในการประกวดการถ่ายภาพ “มุมรัก บ้านป่องนัก ค่ายสุรศักดิ์มนตรี” บ้านป่องนัก พลับพลาที่ประทับแรม โรงทหารนครลำปาง2469 โดยพันเอก วิชาญ ศรีภัทรางกูร รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 32 เป็นประธานการแถลงข่าว พร้อมด้วย พันเอกธนเดช ธรรมชัย หัวหน้ากองยุทธการมณฑลทหารบกที่ 32 และ คุณจิระนันท์ พิตรปรีชา ที่ปรึกษาสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ให้เกียรติร่วมแถลงข่าว และร่วมเป็นกรรมการตัดสินการประกวดภาพถ่าย ในครั้งนี้ด้วย
เมื่อวันศุกร์ 5 สิงหาคม 2565 เวลา 14.00 น. ณ เรือนบ้านป่องนัก ค่ายสุรศักดิ์มนตรี อ.เมืองลำปาง จ.ลำปาง พันเอก วิชาญ ศรีภัทรางกูร ได้รับมอบหมายจาก พลตรีอโณทัย ชัยมงคล ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 32 ให้กำกับดูแล รับผิดชอบ พิพิธภัณฑ์ทหาร หรือที่เราคุ้นชื่อกัน คือ “บ้านป่องนัก”ความภาคภูมิใจที่หน่วยทหาร “ค่ายสุรศักดิ์มนตรี” ได้ทำนุบำรุงสมบัติอันล้ำค่าไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ ซึ่งความสำคัญของบ้านป่องนักแห่งนี้ เคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ไทย ถึง 2 พระองค์ นั่นคือ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อ ปี 2469 และ ปี 2501
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ใช้เป็นที่ประทับอีกครั้งหนึ่ง นับเป็นสมบัติอันล้ำค่า และคงคุณค่าความงดงามมาก บ้านป่องนัก เป็นอาคารที่สร้างด้วยไม้สักทอง ที่มีจำนวนหน้าต่างมากที่สุดถึง 250 บาน และช่องหน้าต่างถึง 469 ช่อง อาคารหลังนี้สร้างด้วยงบประมาณ 16,000 บาท เมื่อพุทธศักราช 2468 จากความงดงาม ที่นักท่องเที่ยว และพี่น้องประชาชน ได้เข้ามาเยี่ยมชมและ ผมเชื่อว่า ทุกท่าน พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “งดงาม และทรงคุณค่ายิ่ง” ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อท่านมาเยือน แล้วประทับใจในรูปภาพต่างๆ เหล่านั้น
ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 32 ท่านมีแนวคิด โดยจะขอเชิญชวน กำลังพลของค่ายสุรศักดิ์มนตรี ครอบครัว ประชาชนทั่วไป ตลอดจนนิสิต นักศึกษา ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพ ร่วมกิจกรรม “ประกวดภาพถ่ายบ้านป่องนัก” 1 รูปภาพ แทนคำพูดได้นับพัน ๆ คำ เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์บ้านป่องนัก และเป็นภาพเล่าเรื่องสำคัญ ช่วงเวลาดี ๆ ที่เกิดขึ้น
โดย มณฑลทหารบกที่ 32 จะได้เชิญคณะกรรมการผู้มีความชำนาญด้านการถ่ายภาพมาร่วมตัดสินภาพที่สวยและงดงามสมบูรณ์ทุกประการ โดยภาพที่มีความงามสมบูรณ์ ที่สุด จะได้รับรางวัล
เงื่อนไขการส่งภาพเข้าประกวด คือ
– ถ่ายภาพด้วย กล้องถ่ายภาพจากมือถือทุกระบบ / เครือข่าย
– เป็นภาพถ่าย ในเวลากลางวัน โดยถ่ายได้ทุกบริเวณพื้นที่ของบ้านป่องนัก
– ความละเอียดไม่น้อยกว่า 5 ล้าน พิกเซล
– รูปแบบของไฟล์ในแบบมาตรฐาน .TIFF หรือ .JPEG
– ระบุ ชื่อภาพ วัน เวลา ในการถ่ายภาพ และความละเอียดของภาพ
– ต้องเป็นผู้สร้างสรรค์ภาพถ่ายนั้นๆ ด้วยตนเอง ห้ามทำซ้ำ ดัดแปลง หรือนำภาพของผู้อื่นมาส่งโดยเด็ดขาด
– ผู้เข้าประกวดแต่ละท่านสามารถส่งผลงานได้ไม่เกิน 3 ภาพ
– มณฑลทหารบกที่ 32 / คณะผู้จัดงานมีสิทธิ์คัดเลือกภาพถ่ายที่ส่งเข้าประกวดเพื่อนำไปจัดแสดงในที่ต่างๆ และมีสิทธิ์ในการจัดพิมพ์เผยแพร่ผลงานในสูจิบัตรและเอกสารสิ่งพิมพ์รวมทั้งสารสนเทศทุกประเภท โดยไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่เจ้าของภาพนั้นๆ
– คำตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นเอกฉันท์และข้อยุติ
รางวัลการประกวด
– ชนะเลิศ จำนวน 1 รางวัล ๆ ละ 5,000 บาท
– รองชนะเลิศ อันดับ 1 จำนวน 1 รางวัล ๆ ละ 3,000 บาท
– รองชนะเลิศ อันดับ 2 จำนวน 1 รางวัล ๆ ละ 2,000 บาท
การนำส่งผลงานภาพถ่าย
ส่งภาพและใบสมัครมาที่ : กองกิจการพลเรือนมณฑลทหารบกที่ 32
สำหรับผู้ที่จะเข้ามาทำการถ่ายภาพในการส่งเข้าประกวด สามารถแจ้งที่ประตูใหญ่ (ตรงข้ามโรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรี) ว่าเข้ามาเยี่ยมชมและถ่ายรูปบ้านป่องนัก ตั้งแต่เวลา 08.00-20.00 น. ทุกวัน
พันเอก วิชาญ ศรีภัทรางกูร รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 32 กล่าวว่า “วัตถุประสงค์หลักของการดำเนินกิจกรรมในการถ่ายภาพนี้นะครับ เพื่อที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดลำปางนะครับ แล้วก็เป็นการเปิดตัวให้พี่น้องประชาชนและโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ ได้รับทราบถึงประวัติความเป็นมาของสถานที่ท่องเที่ยวแห่งนี้ ว่ามีความสำคัญมากกว่าบ้านเก่าที่มีหน้าต่างจำนวนมากนะครับ เพราะจริงๆแล้วพลับพลสที่ประทับแรมของพระมหากษัตริย์ถึง 2 พระองค์คือ ร. 7และ ร .9 ซึ่งมีความสำคัญในประวัติศาสตร์ ก็อยากจะเผยแพร่และเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้บุคคลทั่วไปได้รับทราบครับ ส่วนการประกวดถ่ายภาพนะครับเราโอเพ่นครับ เหตุผลที่เราให้ใช้สมาร์ทโฟนเพราะว่า เราต้องการให้เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ หรือผู้ใหญ่หรือใครก็ตาม หรือทุกคนมีโอกาสได้เข้ามาทำการประกวดได้มากที่สุด เพราะฉะนั้นแล้ว เราหรือไม่เอากล้องโปรเฟชชนอล เราจะใช้กล้องสมาร์ทโฟนเพื่อให้ทุกคนได้มีสิทธิ์ร่วมกันนะครับ”