ลำปาง-เหมืองแม่เมาะ ส่งมอบพื้นที่อนุรักษ์ซากหอยขมดึกดำบรรพ์ แก่กรมป่าไม้

กฟผ.เหมืองแม่เมาะ ร่วมลงนาม ทำบันทึกส่งมอบคืนพื้นที่ซากดึกดำบรรพ์ฟอสซิลหอยขม อายุ 13 ล้านปี เนื้อที่ 52 ไร่ ให้แก่กรมป่าไม้ เพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวิชาการ


การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เหมืองแม่เมาะ จับมือกรมป่าไม้ ร่วมลงนามทำพิธีส่งมอบ และรับมอบคืนพื้นที่ ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้รับอนุญาตให้เข้าใช้ทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าไม้บางส่วน เฉพาะเขตบริเวณพื้นที่ที่เป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ฟอสซิลหอยขม ซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่า 13 ล้านปี เพื่อให้กรมป่าไม้ ได้ทำการกันพื้นที่ไว้เป็นเขตโบราณสถาน อนุรักษ์และพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวิชาการของประเทศ ซึ่งการลงนามทำพิธีส่งมอบและรับมอบคืนพื้นที่ดังกล่าว ได้มีการจัดทำขึ้นอย่างเป็นทางการ ณ ห้องประชุมใหญ่อาคารที่ทำการเหมืองแม่เมาะ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อำเภอแม่เมาะ โดยมีนายประจวบ ดอนคำมูล ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ เป็นตัวแทนในนามหน่วยงาน กฟผ. เป็นผู้ลงนามส่งคืนพื้นที่ และมีนายชูเกียรติ พงศ์ศิริวรรณ ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) เป็นตัวแทนในนามกรมป่าไม้ ร่วมลงนามรับมอบ โดยมีตัวแทนผู้บริหาร หัวหน้าฝ่าย และเจ้าหน้าที่ในส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ของสองหน่วยงานเข้าร่วมในพิธีเป็นสักขีพยาน

ทั้งนี้ สำหรับพื้นที่ซากดึกดำบรรพ์ฟอสซิลหอยขมดังกล่าว ตั้งอยู่ในบริเวณส่วนหนึ่งของพื้นที่ประทานบัตรเลขที่ 24349/15341 มีเนื้อที่รวมประมาณ 52 ไร่ ซึ่งภายในบริเวณพื้นที่ ทางกรมทรัพยากรธรณี เคยระบุพบสุสานซากดึกดำบรรพ์ฟอสซิลหอยขม อายุเก่าแก่ราว 13 ล้านปี กระจัดกระจายกินเนื้อที่อยู่เป็นบริเวณกว้าง อีกทั้งซากฟอสซิลที่พบยังเป็นซากดึกดำบรรพ์หอยขมน้ำจืดที่พบหาเจอได้ยาก โดยซากฟอสซิลหอยขมดังกล่าวจัดอยู่ในวงศ์ Viviparidac สกุล Bellamya ซึ่งหอยวงศ์นี้ได้เริ่มปรากฏในสายวิวัฒนาการมาตั้งแต่ยุคจูแรสซิก หรือเมื่อประมาณ 200 – 145 ล้านปีก่อน โดยตามธรรมชาติจะอาศัยอยู่บนพื้นดินโคลน กินอาหารจำพวกสาหร่าย ตะไคร่ แพลงตอน สัตว์น้ำเล็กๆ และจอกแหนในหนองบึง สามารถเจริญเติบโตและสืบพันธุ์ได้ทุกฤดูกาล ออกลูกเป็นตัวครั้งละประมาณ 30-50 ตัว

ส่วนบริเวณพื้นที่ที่พบสุสานซากดึกดำบรรพ์ฟอสซิลหอยขม จะอยู่ตรงจุดบริเวณขอบด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเหมืองแม่เมาะ โดยที่บริเวณนี้ได้ตรวจสอบพบความหนาของชั้นเปลือกหอยอยู่เป็นบริเวณกว้าง มีความหนาตั้งแต่ 3-12 เมตร เฉลี่ยประมาณ 8 เมตร ส่วนตัวเปลือกหอยจะมีขนาด 0.5 X 1 เซนติเมตร ถึง 2 X 2.5 เซนติเมตร ชั้นเปลือกหอยส่วนใหญ่มีสีเทา แดง ดำ และน้ำตาล มีความหนาตั้งแต่ 30-70 เซนติเมตร และมีชั้นเปลือกหอยแตกหักสีขาว แดง และดำ ความหนาไม่เกิน 15 เซนติเมตร โดยจากศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับชั้นหอยขมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบข้อมูล รายละเอียดที่บ่งชี้ได้ว่าสุสานชั้นหอยขมที่พบแห่งนี้ น่าจะมีความสำคัญถึงระดับโลกจึงเห็นสมควรให้มีการกันพื้นที่ออกจากพื้นที่ประทานบัตร เพื่อทำการอนุรักษ์และพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวิชาการของประเทศ และเพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในจังหวัดลำปางต่อไป

 

ภาวินันท์ บุตรหล้า รายงาน

Related posts