ศ.สุชาติ! แบงค์ชาติควรค่อยๆ ขึ้นดอกเบี้ย ไม่ทำให้เงินบาทแข็งค่ามากไป เพื่อรักษาอัตราการเติบโตของการส่งออกและรายได้ประชาชาติ
ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และอดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นว่า
1.แบงค์ชาติ อาจขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เพื่อทำให้ดอกเบี้ยที่แท้จริง (ดอกเบี้ยหักด้วยเงินเฟ้อ) ไม่ติดลบมากนัก โดยดอกเบี้ยไม่ต้องสูงเท่าดอกเบี้ยสหรัฐ เพราะเศรษฐกิจสหรัฐเติบโตเกินกำลังการผลิต จึงเกิดเงินเฟ้ออันเนื่องมาจากพิมพ์เงินดอลลาร์ มาใช้มากเกินไป แต่ไทยเป็นเงินเฟ้อที่มาจากต้นทุนนำเข้า เศรษฐกิจไทยเพิ่งเริ่มฟื้นตัว การผลิตและการจ้างงานยังต่ำอยู่มาก
2.การขึ้นดอกเบี้ย ไม่ควรทำให้เงินบาทแข็งค่ากว่าเงินประเทศอื่นๆ ที่อ่อนค่าลงทั่วโลก อันเนื่องมาจากเงินสหรัฐ แข็งค่าขึ้นอย่างมาก
3.การส่งเสริมการส่งออกสินค้าบริการ รวมต่างชาติมาท่องเที่ยว (Exports-E) เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะการส่งออกคือ “รายได้ ” แต่เราไม่ควรส่งเสริมการนำเข้า (Imports-M) โดยไม่มีเป้าหมาย เพราะการนำเข้า คือรายจ่าย “เราส่งเสริมให้ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส”
4.หากรัฐบาลไปทำให้ค่าเงินบาทแข็งเกินไป การนำเข้าก็จะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะไปลดรายได้ประชาชาติ (GDP) เพราะในสมการ GDP=C+I+G+E-M ตัว M จะไปหักออกจาก GDP
5.เราจึงต้องรักษาค่าเงินบาทให้อ่อนเล็กน้อย เพื่อให้การส่งออกสามารถแข็งขันได้ดี เพื่อเพิ่มรายได้ และทำให้ราคานำเข้าแพงขึ้นเล็กน้อย ทำให้ลดการนำเข้า เพื่อลดรายจ่าย จะเป็นการเพิ่ม GDP ทั้ง 2 ด้าน
6.การทำค่าเงินบาทให้อ่อนลงเล็กน้อย เพื่อเพิ่มการส่งออกทั้งปริมาณและมูลค่า จะให้ผลบวกเกือบทุกคนในประเทศ เพราะผู้ส่งออกที่แท้จริงคือ กรรมกรและชาวนาชาวสวน ซึ่งจะมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยส่งผ่านมาจากบริษัทส่งออก และทำให้แม่ค้าข้าวแกงขายได้มากขึ้นด้วย การส่งออกจึงทำให้เกือบทุกคนในประเทศ มีรายได้และฐานะดีขึ้น และเนื่องจากการส่งออกก็คือผลผลิต (GDP) ถึง 70% จึงจะทำให้อัตราความเติบโตของประเทศ (GDP growth rates) สูงขึ้นด้วย
7.ค่าเงินอ่อนจะทำให้ราคาสินค้านำเข้าแพงขึ้นในรูปเงินบาท (แต่ต่างชาติไม่ได้ประโยชน์อะไรยังขายได้เงินดอลลาร์ต่อชิ้นเท่าเดิม) โดยราคาสินค้านำเข้าที่แพงขึ้น จะไปทำให้มีการผลิตสินค้าทดแทนนำเข้าเพิ่มขึ้น เป็นการเพิ่ม GDP ขึ้นอีกด้วย
8.การนำเข้าน้ำมันและปุ๋ยจะแพงขึ้น ซึ่งอาจกระทบในวงที่กว้างขึ้น แต่ขนาดจะน้อยกว่ารายได้จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้น โดยสุทธิแล้ว ประชาชนเกือบทุกคนในประเทศจะดีขึ้น ในกรณีที่รัฐบาลต้องการช่วยลดภาระประชาชนจากราคานำเข้าที่แพงขึ้น ก็ต้องไปปรับโครงสร้างภาษี, ราคา และทำให้ตลาดภายในมีการแข่งขันมากขึ้น
9. การนำเข้าเป็นรายจ่าย ไม่ใช่รายได้ เราต้องการให้ประชาชนลดรายจ่ายของประเทศ เราจึงไม่แนะนำให้ปรับค่าเงินบาทให้แข็งเกินจริง เพื่อลดราคาสินค้านำเข้า เพราะ ประชาชนจะไปใช้จ่ายกับ สินค้านำเข้ามากขึ้น ดังนั้น การทำค่าเงินบาทให้อ่อนลงเล็กน้อย โดยเปรียบเทียบประเทศคู่แข่ง “จึงถูกต้อง” (ณ วันนี้ ค่าเงินบาทยังแข็งกว่าเงินริงกิตมาเลเซีย 17%)
10.เราไม่ส่งเสริมแนวคิดที่ให้ลดการส่งออก แล้วกลับมาผลิตแลกเปลี่ยนกินใช้กันเอง เพราะประเทศและประชาชนไทย จะยากจน เทคโนโลยีไม่พัฒนา หากดูในอดีต แม้ประเทศจีนที่มีประชาชนมากมาย ยังไม่สามารถทำได้ ต้องกลับมาเปิดประเทศ จึงทำให้ประเทศจีนร่ำรวย สิงคโปร์ในปัจจุบันมี Exports มากกว่า GDP กว่า 200% ด้วยการนำเข้ามาเพื่อ Re-exports
11.นักเก็งกำไร มักเรียกร้องให้ขึ้นดอกเบี้ยให้ทันดอกเบี้ยสหรัฐฯ เพราะ กลัวเงินทุนระยะสั้นไหลออก, กลัวค่าเงินบาทอ่อน, กลัวหุ้นตก “จึงไม่ถูกต้อง” เพราะหากค่าเงินบาทกลับมาแข็งเกินหลายๆ ประเทศ (ที่มีค่าเงินอ่อนลงเทียบเงินสหรัฐเช่นกัน) การส่งออกไทยก็จะลดลง ทำให้การผลิตและจ้างงานลดลง, รายได้ประชาชาติและกำไรบริษัทก็จะตกลง ราคาหุ้นก็ต้องลดลง เงินทุนระยะสั้นก็ต้องไหลออกอยู่ดี
12.จึงมีคำกล่าวในหมู่นักเศรษฐศาสตร์มหภาคว่า “อะไรที่นักเก็งกำไรบอกว่าดีในระยะสั้น จะทำให้ประเทศแย่ ไม่เจริญเติบโตในระยะยาว” ดร.สุชาติ กล่าว