“อลงกรณ์”ชี้อภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ประมาทไม่ได้เพราะสถานการณ์เปราะบางจากปัญหา พรรคเศรษฐกิจไทย ถอนการสนับสนุนรัฐบาล พร้อมแนะนายกฯและ10รัฐมนตรีทำตัวเหมือนผีดิบไร้อารมณ์เลี่ยงวิวาทะเคลียร์ซักฟอกทุกประเด็นเน้นเศรษฐกิจปมทุจริต
นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์เขียนในเฟสบุ๊ควันนี้ว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอีก 10 คน ระหว่างวันที่19 – 22 ก.ค. โดยจะลงมติวันที่ 23 ก.ค.นี้ถือเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งที่4และครั้งสุดท้ายของสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ซึ่งรัฐบาลจะประมาทไม่ได้เนื่องจากปัญหาเสียงสนับสนุนรัฐบาลลดลงจากกรณีพรรคเศรษฐกิจไทยและเสียงสนับสนุนจากกลุ่มพรรคเล็กที่เป็นตัวแปรสำคัญยังไม่นิ่งเป็นสถานการณ์ที่เปราะบางมากกว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจทุกครั้งที่ผ่านมา
ในขณะที่กระแสทางการเมืองในปัจจุบันเอื้อต่อฝ่ายค้านใน2เรื่อง 1.ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19ระลอกใหม่และสงครามรัสเซีย-ยูเครน 2.กระแสพรรคฝ่ายค้านดีขึ้นจากชัยชนะต่อเนื่องในการเลือกตั้งผู้ว่ากทม.และการเลือกตั้งซ่อมส.ส.ลำปางเขต4
ดังนั้น รัฐบาลต้องผนึกเสียง6พรรคร่วมรัฐบาลให้เป็นเอกภาพมากที่สุดและแสวงหาเสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้นจากกลุ่มพรรคเล็กและส.ส.ในพรรคอื่นที่ต้องการสนับสนุนรัฐบาลหรือมีเจตนาจะย้ายสังกัดมาอยู่พรรคร่วมรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งหน้าก็จะสามารถฝ่าด่านการอภิปรายครั้งนี้ไปได้
“ การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้เป็นโอกาสการทำหน้าที่อภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นครั้งสุดท้ายของพรรคร่วมฝ่ายค้านจึงจะทุ่มเททุกสรรพกำลังในการซักฟอกครั้งนี้โดยมุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลังการอภิปรายและสร้างบาดแผลให้กับผู้นำรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลให้มากที่สุดและลึกที่สุดโดยเฉพาะประเด็นเศรษฐกิจปากท้องและปมทุจริตเพื่อให้มีผลไปถึงการเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้าเมื่อสิ้นวาระของสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้หรือการเลือกตั้งในปีนี้หากมีการยุบสภาภายหลังการประชุมเอเปค
ด้วยเหตุนี้นายกรัฐมนตรีและ10รัฐมนตรีที่ถูกซักฟอกพึงใช้วิกฤติเป็นโอกาสโดยชี้แจงข้อกล่าวหาให้ชัดเจนกระชับตรงประเด็นพร้อมนำเสนอผลงานของรัฐบาลและรัฐมนตรีแต่ละคนประกอบการชี้แจง ประการสำคัญต้องทำตัวเหมือนผีดิบคือต้องไร้ความรู้สึกไร้อารมณ์และหลีกเลี่ยงการตอบโต้เพราะจะทำให้เสียสมาธิและสูญเสียเวลาโดยไม่จำเป็นในการชี้แจงทำความเข้าใจต่อสภาผู้แทนราษฏร”