ปตท. ขอเชิญชวนชาวระยองร่วมเดิน-วิ่ง จัดตั้ง “กองทุนแรกเริ่มศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในวิกฤต การศึกษา”
วันนี้ (15 มิถุนายน 2565) นายวิสุทธิ์ หนูงาม ผู้จัดการฝ่ายบริหารจัดการโรงแยกก๊าซและกิจการเพื่อชุมชนบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้แทน ปตท. เปิดกิจกรรม PTT Virtual Run ลมหายใจเพื่อน้อง จังหวัดระยองเชิญชวนชาวระยองสร้างประสบการณ์ต่อยอดลมหายใจเพื่อน้อง ลดช่องว่างทางการศึกษา ณ สวนศรีเมือง จังหวัดระยอง
นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า ปตท. ได้ร่วมกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. จัดตั้งโครงการ “ลม หายใจเพื่อน้อง” ตั้งเป้าหมายมอบทุนการศึกษากว่า 150 ล้านบาท ให้แก่เยาวชนที่ครอบครัวมีรายได้น้อยและที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด 19 กว่า 60,000 คน ทั่วประเทศ และจากสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนผ่านกิจกรรม PTT Virtual Run ตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา PTT Virtual Run ระยะที่ 1 สามารถสร้างสถิติใหม่สะสมระยะทาง รวม 600,000 กิโลเมตรในเวลาเพียง 6 วัน สามารถช่วยเด็กและเยาวชนที่มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาในภาค เรียนปีการศึกษา 2565 กว่า 60,000 คน ได้กลับเข้าเรียนตามเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น เพื่อเป็นการต่อยอดกิจกรรม ปตท. จึงได้จัดโครงการลมหายใจเพื่อน้องระยะที่ 2 ต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเดิน-วิ่ง 20 ล้านก้าวก๊อดจิ จัดตั้ง “กองทุนแรกเริ่ม ศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในวิกฤตการศึกษา” 20 ล้านบาท ผ่านทาง กสศ.
“ปตท. ขอขอบคุณทุกพลัง และขอเชิญชวนทุกท่านเข้าร่วม PTT Virtual Run ลมหายใจเพื่อน้อง ระยะที่ 2 ก้าวต่อ กับก๊อดจิ” เดิน-วิ่งสะสมระยะทางเพื่อเป็นทุนเริ่มต้นในการจัดตั้งกองทุนแรกเริ่มศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในวิกฤต การศึกษากับเป้าหมายใหม่ที่ท้าทายขึ้น ตั้งเป้าที่ 20 ล้านก้าวก๊อดจิ โดยทุก 1 กิโลเมตร เท่ากับ 3 ก้าวก๊อดจิ ทั้งนี้ ผู้สมัครใน ระยะที่ 1 ทุกท่านสามารถสะสมระยะเดิน-วิ่งได้ต่อเนื่อง และทุกท่านมีสิทธิ์ลุ้นรับของที่ระลึกได้จนถึง 30 มิถุนายน ศกนี้ ติดตามรายละเอียดกิจกรรมได้ที่ https://register-account.com/PTTVirtualRun ปตท. เชื่อมั่นว่า หากเด็กและเยาวชนได้รับโอกาสในการเข้าถึงระบบการศึกษาที่มีคุณภาพจะเติบโตเป็นกำลังสำคัญที่จะพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่าง ยั่งยืน”
นับจากสถานการณ์โควิด 19 ที่รุนแรง ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา กลุ่ม ปตท. ได้ช่วยเหลือแบ่งเบาภาระภาครัฐจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 และยืนหยัดเคียงข้างสังคมไทย ด้วยการจัดตั้งโครงการ “ลมหายใจเดียวกัน” ขึ้นในปี 2564 เพื่อเสริมศักยภาพให้แก่ระบบสาธารณสุข สำหรับโครงการลมหายใจเพื่อน้อง เป็นความตั้งใจที่จะช่วยระบบการศึกษาไทย จากสถานการณ์โรคระบาดดังกล่าวที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางเศรษฐกิจของประชาชน โดยเฉพาะในระดับครัวเรือน ซึ่งทำให้รายได้ในหลายครัวเรือนลดลง และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นักเรียนจำนวนมากมีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบ การศึกษา
ธีรวัฒน์ อินธิพันธ์ รายงาน