ระยอง-โครงการการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขยะตามขนาดและบริบท ของ อปท.แบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ภาคตะวันออก

ระยอง-โครงการการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขยะตามขนาดและบริบท ของ อปท.แบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ภาคตะวันออก

วันที่ 13 มิถุนายน 2565 เวลา 08.30 น. ณ ห้องประชุมศรีสมุทรโภคไชย ชั้น 4 ศูนย์ราชการจังหวัดระยอง ต.เนินพระ อ.เมืองระยอง จ.ระยอง นางสาวประภาศรี พิษณุพงควิชชา หัวหน้าสำนักงานจังหวัดระยอง เป็นประธานเปิดโครงการการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขยะตามขนาดและบริบท ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โครงการวิจัยย่อยที่ 7 การพัฒนาระบบการบริหารจัดการขยะตามบริบท ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน : ภาคตะวันออก ดร.หทัยรัตน์ บัณฑิตยารักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการมีส่วนร่วม และในฐานะคณะผู้วิจัยโครงการฯมหาวิทยาลัยบูรพา ผู้กล่าวรายงาน พร้อม อาจารย์ดิเรก ประทุมทอง ร่วมเป็นวิทยากร โดยมี นายสมชาย รุ่งเรือง ท้องถิ่นจังหวัดระยอง นายครรชิต ศรีนพวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดระยอง นายบุญยืน เลาหวิทยะรัตน์ เลขาธิการหอการค้าจังหวัดระยอง นายสุรพล สุทธจินดา ประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ ภาคประชาชน ร่วมประชุมด้วย

1. บทสรุปผู้บริหาร
ปัญหาขยะมูลฝอยเป็นปัญหาสำคัญที่อยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนานและนับวันยิ่งมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น ในปี 2562 พบปริมาณขยะชุมชนมีมากถึงประมาณ 28.71 ล้านตันในจำนวนนี้สามารถกําจัดได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการประมาณ 9.81 ล้านตันและถูกนํากลับไปใช้ประโยชน์ประมาณ 12.52 ล้านตันมูลฝอยส่วนที่เหลือกว่า 6.38 ล้านตัน ยังคงถูกกําจัดทิ้งอย่างไม่ถูกหลักวิชาการด้วยวิธีการเทกองกลางแจ้งและการเผาในที่โล่ง (กรมควบคุมมลพิษ, 2563) สาเหตุเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะมูลฝอยทุกปีตามอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการอุปโภคบริโภคของประชาชน ในขณะเดียวกันปริมาณขยะมูลฝอยที่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้องและนำกลับมาใช้ใหม่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำ แม้ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยทั้งการจัดเก็บเคลื่อนย้ายรวมทั้งการทำลายจะได้รับการจัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างระบบกําจัดขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังไม่เพียงพอกับปริมาณขยะมูลฝอยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ประเด็นปัญหาดังกล่าวหากไม่มีการแก้ไขใดๆจะส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นอันตรายคุกคามต่อสุขอนามัยของประชาชนได้


จากการศึกษาพบว่าภาคตะวันออกประกอบด้วย 7 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ฉะเชิงเทราจันทบุรี ตราด ปราจีนบุรี ระยอง และสระแก้ว มีการพัฒนาเศรษฐกิจหลายด้าน โดยเฉพาะการมีทรัพยากรแร่หลายชนิดและมีความหลายหลายทางชีวภาพ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมและปิโตรเคมีที่จังหวัดระยองและชลบุรี การผลิตอัญมณี โดยแหล่งผลิตอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี อุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตการเกษตร จังหวัดตราด อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ อุตสาหกรรมเหล็ก โรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์จากไม้ยางพาราที่จังหวัดระยอง ภาคเกษตรกรรมโดยภาคตะวันออกเป็นแหล่งผลิตผลไม้แปรรูปที่สำคัญของประเทศไทย รวมทั้งเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจจากแหล่งท่องเที่ยวทรัพยากรทางทะเลจึงทำให้ปัญหาขยะมูลฝอยทั้งจากชุมชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากนับว่าเป็นปัญหาเรื้อรังที่สำคัญมาอย่างยาวนาน


สถานการณ์ขยะมูลฝอย ภูมิภาคตะวันออก พบว่ามีปริมาณขยะจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นขยะทางด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม รวมถึงขยะครัวเรือน ถึง 2.43 ล้านตัน ได้รับการจัดการอย่างถูกต้องเพียง 0.99 ล้านตันที่เหลือเป็นการกำจัดขยะที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้เพียง 0.74 ล้านตัน และยังไม่ปรากฎข้อมูลสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ถูกต้องเป็นที่แน่ชัด  จากความเป็นมาและปัญหาดังกล่าว คณะผู้วิจัยในมหาวิทยาลัย/วิทยาลัยประจำจังหวัดต่างๆ ในเครือข่ายฯ ตะวันออก ร่วมมือกับผู้นำชุมชนในพื้นที่ จัดโครงการการพัฒนาระบบและกลไกในการจัดการและการใช้ประโยชน์จากขยะของชุมชนอย่างยั่งยืนของ 7 จังหวัด ได้แก่ จ.ชลบุรี จ.จันทบุรี จ.ฉะเชิงเทรา จ.ตราด จ.ระยอง จ.สระแก้ว และ จ.ปราจีนบุรี ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญประเด็นปัญหาขยะซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในระดับประเทศ และเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายต่อการแก้ปัญหาและการพัฒนามาโดยตลอด และยังเป็นประเด็นสำคัญในระดับแผนงานของยุทธศาสตร์ ววน.ตามแพลตฟอร์มที่ 2 : การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม ในแผนงานโจทย์ท้าทายด้านทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และการเกษตร (P7)

ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการสร้างนวัตกรรมสำหรับเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนนวัตกรรม (P13) ตามแพลตฟอร์มที่ 4 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ อีกทางหนึ่งด้วย จึงได้ร่วมกันนำเสนอแผนงานวิจัยและพัฒนาเพื่อการจัดการและการใช้ประโยชน์จากขยะของชุมชน  ภายใต้แนวคิด  “ขยะคือเงินและใช้ประโยชน์ได้ ( Waste to Gold & Zero Waste)” โดยการออกแบบตัวแบบ (MODEL) และระบบปฏิบัติการ (Platform) ที่มุ่งสร้างระบบ กระบวนการและกลไก ภายใต้ฐานการวิจัยที่จะสร้างและพัฒนาความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่เหมาะสม เพื่อให้ชุมชนมีขีดความสามารถในการพึ่งตนเอง พึ่งพากัน และการจัดการตนเอง ทางด้านพัฒนาการจัดการและการใช้ประโยชน์จากขยะของชุมชนแบบครบวงจร และเกิดการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคประชาสังคมได้อย่างต่อเนื่องและเกิดความยั่งยืน

จากผลการดำเนินงานดังกล่าวนี้ จะก่อให้เกิดระบบกลไกและนวัตกรรมในการจัดการและการใช้ประโยชน์จากขยะที่เหมาะสมในระดับครัวเรือนและชุมชน เกิดกลุ่มอาชีพในการสร้างงาน สร้างรายได้ และการกระจายรายได้ (ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม) จากการจัดการและการใช้ประโยชน์จากขยะครัวเรือนและชุมชน (ผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อชุมชนหรือสังคม –Social Entrepreneurs)  มีผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ หรือปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ตลอดจนสิ่งประดิษฐ์คิดค้นต่างๆ ที่เกิดจากการจัดการและการใช้ประโยชน์จากขยะครัวเรือน และสามารถลดปริมาณขยะครัวเรือนและชุมชนลง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี ตลอดจนลดพื้นที่ในการกำจัดขยะของชุมชน และลดปัญหามลพิษจากขยะชุมชน เป็นลำดับ ประการสำคัญคือ จะเป็นการสร้างวินัยในการจัดการขยะที่ถูกต้องของครัวเรือนและชุมชน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุดในการแก้ปัญหาขยะได้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี


ดังนั้นโครงการวิจัยนี้มุ่งเน้นการศึกษาและพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการขยะ สภาพปัญหาของการบริหารจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ถอดบทเรียนปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จ/ไม่สำเร็จ ของการบริหารจัดการขยะจังหวัดในเขตตะวันออกทุกระดับ วิเคราะห์และสังเคราะห์เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการต่อส่วนราชการ หน่วยงาน/องค์กรที่เกี่ยวข้อง ในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการขยะให้เกิดความเหมาะสมตามขนาดและบริบทของอปท.ในพื้นที่ภาคตะวันออก ด้วยความร่วมมือทางการวิจัยภายใต้เครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาภาคตะวันออก จำนวน 8 มหาวิทยาลัย ได้แก่ 1) มหาวิทยาลัยบูรพา 2) มหาวิทยาลัยราชภัฎรำไพพรรณี 3) มหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์ 4) วิทยาลัยชุมชนตราด 5) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลภาคตะวันออก 6) วิทยาลัยชุมชนสระแก้ว 7) วิทยาลัยนานาชาติเซนต์เทเรซา 8) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ รับผิดชอบพื้นที่ 7 จังหวัดภาคตะวันออก


โดยวัตถุประสงค์หลักของโครงการเพื่อถอดบทเรียนของระบบบริหารจัดการขยะตามขนาดและบริบทของพื้นที่ภาคตะวันออก ในบริบทที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของภาคตะวันออกเพื่อให้ได้แนวปฏิบัติการบริหารจัดการขยะ (Standard Operation Procedures/Code of Conduct) ใน 6 บริบท ได้แก่
– แนวปฏิบัติการบริหารจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับเทศบาลนคร หรือ อปท.ขนาดใหญ่
– แนวปฏิบัติการบริหารจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับเทศบาลเมืองหรือ อปท.ขนาดกลาง
– แนวปฏิบัติการบริหารจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับเทศบาลตำบล/อบต.หรือ อปท.เล็ก
– แนวปฏิบัติของการบริหารจัดการขยะระดับชุมชน-ครัวเรือน
– แนวปฏิบัติของการบริหารจัดการขยะจากสถานประกอบการโรงแรม
– แนวปฏิบัติของการบริหารจัดการขยะจากสถานศึกษา/มหาวิทยาลัย

ชมรมหนังสือพิมพ์และสิ่งแวดล้อมจังหวัดระยอง ข่าว/ภาพ
ธีรวัฒน์ อินธิพันธ์ รายงาน

Related posts