กมธ.งบฯ ถกเครียด “งบคลัง” เจอ “หนี้บนพรมพรึบ หนี้ใต้พรมเพียบ ค่าดอกเบี้ยพุ่ง จัดเก็บพลาด ประเมิน ศก.ผิด”
ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เปิดเผยว่า การประชุม กมธ.งบฯ ได้พิจารณาสัปดาห์แรกจบไปแล้ว เป็นในส่วนของภาพรวมเศรษฐกิจและกระทรวงการคลัง รวมถึงธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ สิ่งที่พบเจอ ล้วนแต่น่าหนักใจ
1. “หนี้บนพรมพรึบ หนี้ใต้พรมเพียบ” : นอกจากหนี้สาธารณะ 4.4 ล้านล้านบาท ที่ถูกสร้างใหม่ขึ้นใน 8 ปี ยังเจอกับหนี้ที่ไม่ถูกบันทึกเป็นหนี้สาธารณะจากมาตรการกึ่งการคลังอีกราว 1 ล้านล้านบาท และพุ่งแรงต่อเนื่องจากมาตรการด้านการเกษตรของรัฐบาล เป็นรายจ่ายก้อนโตทุกๆปี ที่ต้องตั้งงบประมาณจ่ายไปยัง ธกส. เป็นส่วนใหญ่ ที่สำคัญแทบไม่มีข้อมูลเลยว่ารัฐบาลใช้อะไรไปบ้าง ยอดคงค้างเท่าไหร่ ชำระเป็นอย่างไร กมธ.จากพรรคเพื่อไทยได้เรียกขอเอกสารไปทั้งหมด ต้องติดตามกันดูต่อ
2. “ค่าดอกเบี้ยพุ่ง” : การใช้หนี้สาธารณะในส่วนของ สบน. ปีนี้เป็นดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมสูงถึง 192,126 ล้านบาท เกือบ 3 เท่าของการชำระเงินต้น ภาษีประชาชนถูกนำไปใช้หนี้แต่ไปจมอยู่ที่ค่าดอกเบี้ย ยังไม่รวมค่าดอกเบี้ยจากหนี้ใต้พรมอีก นี่คือต้นทุนอันมหาศาลของการกู้เงินและการสร้างหนี้สาธารณะไปเรื่อยๆ ซึ่งในระยะหลังๆเป็นการกู้ที่ไม่สร้างรายได้ให้กับประเทศ
3. “ประเมิน ศก. ฝันหวาน” : ภาพที่เห็นที่ห้อง กมธ.งบฯ นั้นหน่วยงานที่ชี้แจงเสนอภาพที่เต็มด้วยความหวัง ในขณะที่ฝั่ง กมธ. กลับเห็นภาพที่น่าเป็นห่วง เหมือนอยู่กันคนละประเทศ ต้องเจอทั้งเรื่องเงินเฟ้อ ผลจากการต่อสู้เงินเฟ้อของ FED ต้นทุนการผลิตพุ่ง รวมถึงผลกระทบหากไทยต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย การคาดการณ์ GDP สำหรับปี 66 (ซึ่งใช้ทำงบ) ที่ 3.7% ยังคงตัวเลขเดิมตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา แม้จะมีปัจจัยลบใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
4. “จัดเก็บพลาด” : ปีงบฯ 65 กรมสรรพาสามิตเก็บภาษีพลาดเป้าทุกเดือนติดต่อกัน ต่ำกว่าเป้าถึง 26,501 ล้านบาท และภาษีสำหรับการระดมทุนทั้งในตลาดหุ้นและตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล มีแนวโน้มเดินหน้าต่อ ทั้งสองภาษีนี้ทำลายตลาดการระดมทุนของประเทศ ในขณะที่ภาษีที่ควรเก็บเช่น ภาษีมรดก กลับไม่คืบหน้า ย่ำอยู่กับที่ราว 200 กว่าล้าน
5. “ธนาคารรัฐ วางบทบาทผิด” : ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐบางแห่งมุ่งสร้างกำไร มุ่งลด NPL เพิ่ม BIS แต่พันธกิจหลักในการเข้าทำในสิ่งที่ธนาคารพาณิชย์ไม่อยากทำ เข้าเสี่ยงในสิ่งที่ธนาคารพาณิชย์ไม่อยากเสี่ยง กลับไม่ได้ทำ SME bank ที่มีหน้าที่เข้าช่วย SMEs ในช่วงวิกฤตโดยตรง กลับมี NPL ที่ลดลง ที่น่าตกใจสินเชื่อปล่อยใหม่ตั้งแต่ต้นปี 65 แทบไม่มี NPL เลย อีกทั้งเงินให้กู้ยืมต่อรายกลับเพิ่มขึ้น ซึ่งตรงข้ามกับพันธกิจที่ต้องยอมเสี่ยงเพื่อช่วย SMEs
6. “การคลังชนเพดาน การเงินโดนกดดัน” : ด้านการคลัง งบฉบับนี้ผ่านการเค้นทั้งการประมาณการรายได้ที่สูงเกินจริง จากการคาดการณ์ที่ GDP ที่สูงเกินจริง ซ้ำยังตั้งขาดดุลเกือบเต็มเพดานเพื่อทำให้มีเงินมาใช้จ่าย จนเรียกได้ว่าการคลังชนเพดาน ส่วนนโยบายการเงินก็ถูกกดดันจากปัจจัยต่างประเทศให้ในที่สูงอาจต้องฝืนขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งๆ ที่ประเทศไม่มีความพร้อมเลย//