นิพนธ์ ยัน การพิจารณาทางแพ่ง ไม่สามารถนำมาใช้ในทางอาญาได้ เผย อัยการสูงสุด สั่งไม่ฟ้องคดีอาญา เนื่องจาก ป.ป.ช.ไม่สามารถชี้แจงข้อไม่สมบูรณ์ของสำนวนได้ อีกทั้ง ผู้ตรวจรับรถฯ ไม่มีอำนาจในการตรวจรับ
เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่จ.สงขลา นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ชี้แจงถึงกรณีเรื่องข้อพิพาทสัญญาซื้อขายรถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา
หลังศาลปกครองสูงสุดอ่านคำพิพากษาว่า
1. การประมูลจัดซื้อรถซ่อมบำรุงทาง ของ อบจ.สงขลานั้นมีทั้งหมด 3 ครั้ง
-ครั้งที่ 1 ประมุลจัดซื้อ 1 คัน เมื่อเดือน กรกฎาคม 2555 (สมัยนายอุทิศ ชูช่วย อดีต
นายก อบจ.สงขลา)
-ครั้งที่ 2 ประมูลจัดซื้อ 1 คัน เมื่อเดือน กันยายน 2555 (สมัยนายอุทิศ ชูช่วย อดีต
นายก อบจ.สงขลา)
-ครั้งที่ 3 ประมูลจัดซื้อ 2 คัน เมื่อเดือน พฤษภาคม 2556 (สมัยนายอุทิศ ชูช่วย อดีต
นายก อบจ.สงขลา)
2. นายนิพนธ์ บุญญามณี เข้ารับตำแหน่งนายก อบจ.สงขลา เมื่อเดือนตุลาคม 2556 เป็น
ช่วงเดียวกับที่มีการส่งมอบรถซ่อมบำรุงทาง ของการจัดซื้อครั้งที่ 3 จำนวน 2 คัน ที่
จัดซื้อตั้งแต่สมัยนายอุทิศ ชูช่วย เป็นนายกอบจ.
3. มีการร้องเรียนไปยัง ผวจ.สงขลา และ นายกอบจ.
สงขลาว่าการจัดซื้อรถซ่อมบำรุงทางในครั้ง 3 นั้น มีการปลอมเอกสาร และ มีการฮั้วประมูล ทางผวจ.สงขลา จึงแจ้งมายังองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงในข้อร้องเรียนดังกล่าว และนายนิพนธ์ บุญญามณี ที่รับตำแหน่งนายกอบจ.สงขลาช่วงนั้นจึงแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และได้ชะลอการจ่ายเงินให้แก่ผู้ชนะการประมูล
4. ในระหว่างคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ดำเนินการตรวจสอบอยู่นั้น บริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด (ผู้ชนะการประมูล) ได้ร้องต่อศาลปกครองสงขลา ให้ อบจ.สงขลาชำระเงินค่ารถซ่อมบำรุงทาง
5. ศาลปกครองสงขลา ได้ตัดสินให้ อบจ.สงขลา ชำระเงินค่ารถซ่อมบำรุงทางให้แก่บริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด พร้อมดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม อบจ.สงขลา ได้ยื่นอุทธรณ์ ต่อ
ศาลปกครองสูงสุด ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้นัดอ่านคำพิพากษาวันนี้คือ 9 มิถุนายน 2565 ให้ อบจ.สงขลา ชำระค่ารถซ่อมบำรุงทางให้แก่ผู้ชนะการประมูลพร้อมดอกเบี้ย
6. ผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงพบว่า มีการฮั้วประมูลจริง ในการจัดซื้อรถซ่อมบำรุงทางครั้งที่ 3 และนายนิพนธ์ บุญญามณี ก็ได้ให้ อบจ.สงขลา แจ้งความ
ดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง ณ สถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลาแล้ว
7. เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 สถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลา ได้สรุปสำนวนการสอบสวนเสร็จสิ้น มีความเห็นควรสั่งฟ้องบริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด โดยนายอิทธิพล ดวงเดือน (ผู้ชนะการประมูล) และนางสาวศศิธร ตั้งตรงคิด กรรมการบริษัท เอส พี เค ออโต้ เทค จำกัด (บริษัทคู่เทียบประมูล ในความผิดฐาน ร่วมกันปลอมและใช้เอกสารปลอมตกลงร่วมกันในการเสนอราคาเพื่อวัตถุประสงค์จะให้ประโยชน์แก่ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานรัฐ โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมหรือโดยกีดกันมิให้มีการเสนอสินค้าหรือบริการอื่นต่อหน่วยงานรัฐหรือโดยเอาเปรียบหน่วยงานรัฐอันมิใช่เป็นไปในทางการประกอบธุรกิจปกติ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 264 และ
268 และตาม พ.ร.บ ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.
2542 มาตรา 4, 14 (2) และมาตรา 14 วรรคสาม และอยู่ระหว่างส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการดำเนินคดีต่อไป
8. อย่างไรก็ตาม ผู้ต้องหาได้ร้องขอโอนสำนวนการสอบสวนจาก สถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลา ไปยังกองบังคับการปราบปราม เพื่อทำการสอบสวนแทน และเมื่อวันที่ 9 ก.ย.64 กองกำกับการ 6 กองบังคับการปราบปราม ได้สรุปสำนวนการสอบสวนว่าผู้ต้องหากับพวกในคดีนี้ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหาจริง และได้ส่งสำนวนการสอบสวนไปยัง คณะกรรมการ ป.ป.ช. และจนถึงบัดนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา
9. นอกจากการประมูลจัดซื้อรถครั้งที่ 3 นั้น อบจ.สงขลา และ นายนิพนธ์ บุญญามณี ยังพบพยานหลักฐานว่า การประมูลจัดซื้อครั้งที่ 1 และ 2 สมัยนาย
อุทิศ ชูช่วย นั้น ก็มีการกระทำความผิดในลักษณะเดียวกับการจัดซื้อครั้งที่ 3(คือมีการฮั้วฯ) เพราะเป็นกลุ่มเอกชนกลุ่มเดียวกัน จึงได้แจ้งความดำเนินคดี กับผู้ที่เกี่ยวข้องเช่นกัน สถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลา
10. เมื่อวันที่ 23 ส.ค.64 สถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลา ได้สรุปสำนวนการสอบสวนพบว่ามีพยานหลักฐานเชื่อว่าในการประมูลครั้งที่ 1 และ 2 นั้น ผู้ต้องหา อันได้แก่ บริษัท
พลวิศว์ เทค จำกัด (ผู้ชนะการประมูล ครั้งที่ 1) โดยนายอิทธิพล ดวงเดือน, หจก.เพลิโอนี (ผู้ชนะการประมูลครั้งที่ 2) โดยนายอิทธิพล ดวงเดือน และบริษัทคู่เทียบทุกรายในการประมูล ได้ร่วมกันปลอมและใช้เอกสารปลอม ตกลงร่วมกันในการเสนอราคาเพื่อวัตถุประสงค์จะให้ประโยชน์แก่ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานรัฐ โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมหรือโดยกีดกันมิให้มีการเสนอสินค้าหรือบริการอื่นต่อหน่วยงานรัฐหรือโดยเอาเปรียบหน่วยงานรัฐอันมิใช่เป็นไปในทางการประกอบธุรกิจปกติ เป็นเหตุให้ อบจ.สงขลาได้รับความเสียหาย และได้ส่งเรื่องต่อไปยัง คณะกรรมการ ป.ป.ช เพื่อดำเนินการต่อไป
11. ต่อมาเมื่อวันที่ 12 เม.ย.65 นั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ส่งสำนวนการสอบสวน ของการจัดซื้อครั้งที่ 1และ 2 กลับมายัง สถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลา เพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับกลุ่มเอกชนต่อไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไป และขณะนี้ พนักงานสอบสวนก็ได้อยู่ระหว่างส่งตัวผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการ
นายนิพนธ์ รมช.มท. ยังเปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด นายนิพนธ์ บุญญามณี กรณีไม่อนุมัติจ่ายเงินให้แก่บริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด ผู้ขาย นั้น ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า
1. คณะกรรมการ ป.ป.ช ได้ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดดำเนินคดีอาญากับนายนิพนธ์ บุญญามณี แต่อัยการสูงสุดได้ชี้ข้อไม่สมบูรณ์ของสำนวนคดีที่ป.ป.ช.ทำมาใน 16 ประเด็น และได้ตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างผู้แทนฝ่ายอัยการสูงสุด และผู้แทนฝ่ายคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่ผู้แทนฝ่ายคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่สามารถชี้แจงข้อไม่สมบูรณ์ของสำนวนคดีได้ตามที่อัยการสูงสุดระบุความไม่สมบูรณ์ของสำนวนที่ป.ป.ช.ทำมาได้ อัยการสูงสุดจึงมีคำสั่งไม่ฟ้องนายนิพนธ์ บุญญามณี และได้คืนสำนวนกดีกลับให้แก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปแล้วเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2565
นายนิพนธ์ ยังกล่าวต่ออีกว่า การพิจารณาในวันนี้เป็นเรื่องเดิมที่มีมาก่อนที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาสั่งให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคกก.ตรวจฯก็สรุปความเห็นว่าบริษัทพลวิศว์ฯ ทำผิดพ.ร.บ.ฮั้วจริง ซึ่งเป็นการพิจารณาในทางแพ่งไม่เกี่ยวข้องกับการพิจาณาในคดีอาญา และโดยหลักการพิจารณาทางแพ่งจะนำมาใช้กับการพิจารณาทางอาญาไม่ได้ แต่ทางอาญาสามารถนำไปปรับเข้ากับการพิจารณาทางแพ่งได้ ซึ่งกรณีนี้มีความย้อนแย้งกันกัน ขณะเดียวกัน กองปราบปรามก็ได้สรุปสำนวนแล้วว่า บริษัทพลวิศว์ได้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้วฯ และส่งสำนวนไปให้ป.ป.ช.ได้พิจารณาเพิ่มเติม ประกอบกับในสำนวนที่ป.ป.ช.ทำไปยังอัยการสูงสุดเพื่อยื่นฟ้องนั้น ขณะนี้อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง และได้ส่งสำนวนกลับไปยังป.ป.ช.แล้ว อีกทั้ง ได้ร้องขอความเป็นธรรมไปยังป.ป.ช.ให้พิจารณาเพิ่มเติมว่า นอกจากมีการฮั้วกันแล้ว การตรวจรับรถอเนกประสงค์ทั้ง 2 คัน ผู้ตรวจรับไม่มีอำนาจในการตรวจรับ จึงถือเป็นการตรวจรับโดยมิชอบ
////