นอภ.หัวหิน ชู 8 แผนแม่บทเสนอด่วนผู้ว่าฯแก้ปัญหาช้างป่าละอูทำร้ายชาวบ้าน
เมื่อวันที่ 23 เม.ย. นายพลกฤต พวงวลัยสิน นายอำเภอหัวหิน เปิดเผยภายหลังได้ร่วมประชุมร่วมกับ อบต.กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และหน่วยงานต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาช้างป่าใน ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ หลังมีช้างป่าออกมาทำร้ายชาวบ้านจนเสียชีวิต 2 รายภายในเดือนเดียวกัน พร้อมกันนี้ได้นำ กิ่งกาชาด อ.หัวหิน มอบเงินเยียวยา สิ่งของต่างๆช่วยเหลือครอบครัวชาวบ้านที่ถูกช้างป่าทำร้ายเสียชีวิตพร้อมทั้งให้กำลังใจด้วย
นายพลกฤต กล่าวว่าขณะนี้ได้ทำเรื่อง 8 แผนแม่บท เสนอไปยัง ผู้ว่าราชการ จ.ประจวบฯ แนวทาง/มาตรการการแก้ไขปัญหาช้างป่าจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้แก่
1.สร้างแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร ในพื้นที่ป่า มอบหมายให้อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ที่บริเวณหุบปลากั้ง หมู่ที่ 5 ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ และบริเวณทุ่งกระทิง หมู่ที่ 10 ต.บึงนคร อ.หัวหิน 2.จัดทำแนวรั้วธรรมชาติ มอบหมายให้สำนักงานเกษตรอำเภอหัวหิน เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ โดยการส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งเป็นรั้วธรรมชาติ และปลูกมะขามเปรี้ยวเสริมแนวรั้วกึ่งถาวรที่ได้จัดสร้างไปแล้ว 3.จัดทำแนวรั้วกึ่งถาวร มอบหมายให้ อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่-บึงนคร เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ 4.การเฝ้าระวังช้างป่า มอบหมายอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กองร้อย ตชด.ที่ 145 ฉก.จงอางศึก อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบจัดชุดเฝ้าระวัง ตลอดจนจัดหาเบี้ยเลี้ยง ค่าตอบแทน การติดตั้งกล้องวงจรปิด วิทยุสื่อสาร วัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็น อาคาร/หอเฝ้าระวัง
5.ปรับภูมิทัศน์บริเวณสองข้างทาง มอบหมาย อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ได้แก่ การตัดสางต้นไม้ 2 ข้างทาง ตั้งแต่เขาตายาย-ซุ้มประตูทางเข้า ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ เป็นประจำทุกเดือน 6.ติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างรายทาง มอบหมาย แขวงทางหลวงชนบทประจวบฯเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ตั้งแต่เขาตายาย-ซุ้มประตูทางเข้า ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ ระยะทางประมาณ 10 กม. 7.การช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยจากช้างป่า มอบหมาย อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการจัดตั้งกองทุน ระดมทุน/จัดหารายได้ (จำหน่ายเสื้อ ของที่ระลึก วิ่ง ปั่นจักรยาน) แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุน กำหนดหลักเกณฑ์/ระเบียบการช่วยเหลือเยียวยา เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประสบภัยจากช้างป่าได้ทันที และ 8.พัฒนาระบบเทคโนโลยีเฝ้าระวังช้างป่า ติดตั้งกล้อง CCTV และการขยายเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์/ระบบติดต่อสื่อสาร มอบหมาย สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ
“ปัญหาดังกล่าวมีการสะสมมาเป็นเวลานานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามเข้าไปแก้ไขปัญหามาโดยตลอด จากปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นโอกาสทุกฝ่ายได้หันหน้ามาทบทวนถึงสาเหตุที่ทำให้การแก้ปัญหายังไม่ก้าวหน้าอย่างที่ควรเป็น โดยทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน และไม่อยากให้มีข่าวชาวบ้านถูกช้างป่าละอูทำร้ายเสียชีวิตอีก” นายพลกฤต กล่าวตอนท้าย.
นายนิพล ทองเก่า ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวสยามโฟกัสไทม์/4เหล่าทัพ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์0909944781