ระยอง-ZEON เปิดรับฟังความคิดเห็นฯครั้งที่ 2โครงการโรงงานผลิตไฮโดรคาร์บอน (ส่วนขยาย ครั้งที่ 3)

ระยอง-ZEON เปิดรับฟังความคิดเห็นฯครั้งที่ 2โครงการโรงงานผลิตไฮโดรคาร์บอน (ส่วนขยาย ครั้งที่ 3)

บริษัท เซออน เคมิคัลส์ (ไทยแลนด์) จำกัด หรือ ZEON CHEMICALS (THAILAND) CO., LTD. จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2โครงการโรงงานผลิตไฮโดรคาร์บอน (ส่วนขยาย ครั้งที่ 3)ในวันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม 2565 ณ ห้องประชุมโพธิ์ทอง ศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาลเมืองมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง นายครรชิต ศรีนพวรรณ ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดระยอง เป็นประธานกล่าวเปิดการรับฟังความคิดเห็นฯครั้งที่ 2โครงการโรงงานผลิตไฮโดรคาร์บอน (ส่วนขยาย ครั้งที่ 3) ซึ่งการจัดประชุมดังกล่าวเป็นการจัดประชุมในรูปแบบผสมผสานระหว่างการจัดประชุมในพื้นที่ร่วมกับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ระบบ Zoom Meeting) โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากหลายภาคส่วน ทั้งกลุ่มผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ศึกษา หน่วยงานภาครัฐในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค และระดับจังหวัดสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อการจัด ทำร่างรายงานฯ ร่างมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ได้เข้าร่วมประชุมร่วมแสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่างๆเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาปรับปรุงรายงานการประเมินผลกระทบ สิ่งแวดล้อมให้มีความครบถ้วนและสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

นายเคนอิชิ โกะโตะ กรรมการผู้จัดการ และนางสาวภัทราพร ตั้งประกอบ ผู้จัดการสิ่งแวดล้อม ของบริษัท เซออน เคมิคัลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ มีแผนจะขยายกำลังการผลิตไฮโดรคาร์บอนเรซิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้สามารถรองรับการขยายตัวของตลาด และความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยก่อสร้างสายการผลิตที่ 3ในพื้นที่ปัจจุบันของโครงการมีกำลังผลิต 23,000 ตันต่อปี ทำให้โครงการมีกำลังและการผลิต ไฮโดรคาร์บอนเรซินโดยรวมเพิ่มขึ้นจากเดิม 48,000 ตันต่อปีเป็น 71,000 ตันต่อปี (หรือประมาณ 209 ตันต่อวัน) ซึ่งวัตถุดิบและสารเคมีที่ใช้ยังคงเป็นชนิดเดิมที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยสายการผลิตที่ 3 จะใช้ถังเก็บสารเคมีและระบบสาธารณูปโภคส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในปัจจุบันร่วมกับสายการผลิตที่ 1 และ 2

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเข้าข่ายกิจการประเภทอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่มีกระบวนการผลิตทางเคมี ที่มีกำลังผลิตตั้งแต่ 100 ตันต่อวันขึ้นไป ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมพ.ศ. 2561 ดังนั้น บริษัทฯจึงมอบหมายให้บริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นผู้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อนำเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่ง แวดล้อม (สผ.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบประกอบการขออนุญาตตามขั้นตอนต่อไป

ที่ผ่านมาได้ดำเนินกิจกรรมการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย โดยดำเนินการเข้าพบเพื่อให้ข้อมูลเบื้องต้นและปรึกษาหารือ การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 การสัมภาษณ์เชิงลึก และการสำรวจความคิดเห็นโดยใช้แบบสอบถาม เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 เป็นที่เรียบร้อย โดยขณะนี้อยู่ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียต่อการจัดทำร่างรายงานและมาตรการป้องกันการแก้ไขผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อม

 

ชมรมหนังสือพิมพ์และสิ่งแวดล้อมจังหวัดระยอง ข่าว/ภาพ
ธีรวัฒน์ อินธิพันธ์ รายงาน

Related posts