นิพนธ์’ รุกงานลดอุบัติเหตุทางถนน เตรียมรับสงกรานต์ ปี 65 หลังตัวเลขผู้เสียชีวิตเริ่มทยานขึ้น กำชับ ศปถ.จังหวัด เร่งรัดกำหนดมาตรการ ปีนี้ต้องไม่เกิน 22 คนต่อแสนประชากร พร้อมแนะเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่จริง นำข้อมูลมาวิเคราะห์ลดอุบัติเหตุอย่างยั่งยืน
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 16 มีนาคม 2565 ที่ห้องประชุม 1 ปภ. อาคาร 3 ชั้น 5 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการบูรณาการเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในระดับพื้นที่ เพื่อมอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงานด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน โดยมี นายรัฐพล นราดิศร รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารระดับสูง ผู้ทรงคุณวุฒิ และหน่วยภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนนร่วมในพิธีเปิดโครงการฯ
ศูนย์อำนวยการด้านความปลอดภัยทางถนน ได้นำกรอบแนวคิดการดำเนินงานภายใต้กรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG) ปฏิญญาสตอกโฮมส์ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผละแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน มาขับเคลื่อนการดำเนินงานโดยมีเป้าหมายลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือ 12 คน/แสนประชากร ในปี 2570 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะฝ่ายเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้ดำเนินโครงการบูรณาการเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในระดับพื้นที่ เพื่อมอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงานด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนให้กับศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนนจังหวัด ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อใช้ทั้ง 3 กลไก ในการขับเคลื่อนนโยบาย กรอบแนวคิด ยุทธศาสตร์ มาตรการ และแผนงานด้านความปลอดภัยทางถนนไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม รวมทั้งการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และเพื่อให้เกิดการบูรณาการ ร่วมคิด ร่วมวางแผน ของประชาชนในพื้นที่ ในการสร้างนวัตกรรมทางสังคมด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนให้มีความปลอดภัยอย่างยั่งยืน
สำหรับสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนน ช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมานั้น มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 2,070 ราย ประกอบด้วย จังหวัดชลบุรี 91 ราย จังหวัดนครราชสีมา 75 ราย จังหวัดอุดรธานี 73 ราย และจังหวัดเชียงราย 73 ราย เช่นกัน โดยพฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ส่วนใหญ่จะเป็นการดื่มแล้วขับ การไม่สวมหมวกนิรภัย และการไม่คาดเข็มขัดนิรภัย
นายนิพนธ์ กล่าวว่า การประชุมในวันนี้เพื่อมอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงานด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึงนี้ เนื่องจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นภัยคุกคามที่ก่อให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นจำนวนมาก สำหรับประเทศไทย คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบรองรับสอดคล้องปฏิญญาสตอกโฮมส์ ในปี 2564 ได้กำหนดลดอัตราการเสียชีวิตให้เหลือ 25.03 คน/ประชากรแสนคน ซึ่งจากข้อมูล 3 ฐาน ตั้งแต่เดือนมกราคม – ธันวาคม 2564 มีจำนวนผู้เสียชีวิต 16,975 ราย คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 25.92 คน/ประชากรแสนคน ส่วนในปี 2565 หลังจากสถิติตัวเลขอุบัติเหตุทางถนนที่เริ่มทยานขึ้น ตนได้กำชับ ศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เร่งรัดกำหนดมาตรการ โดยตั้งเป้าปีนี้ อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนต้องไม่เกิน 22 คน/ประชากรแสนคน และต้องลดลงต่อเนื่องทุกปีหลังจากนี้ โดยในปี 2570 อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ให้เหลือ 12 คน/ประชากรแสนคน
นายนิพนธ์ กล่าวต่อว่า ตนมองว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า ตัวเลขการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนต้องมีแนวโน้มลดลงตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ เน้นย้ำเรื่องการประชาสัมพันธ์ ขอความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายภาคเอกชน ภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สนับสนุนการประชาสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นป้ายประชาสัมพันธ์ หรือแม้แต่การสนับสนุนพื้นที่ประชาสัมพันธ์ และที่สำคัญต้องให้ความสำคัญกับการลงพื้นที่จริง ลงไปดูหน้างานว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งนั้น เกิดขึ้นจากสาเหตุ/ปัจจัยใด และนำข้อมูลมาวิเคราะห์ให้ตรงกับสภาพความเป็นจริงมากที่สุด บูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อลดความสูญเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินให้เหลือน้อยที่สุด และฝากไปถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมแรงร่วมใจกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของจังหวัดที่ยังไม่มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ศปถ.อปท.) ขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัด เร่งรัดการดำเนินการจัดตั้ง ศปถ.อปท. ไปยังนายอำเภอ ผู้บริหารท้องถิ่นในพื้นที่ ให้จัดตั้ง ศปถ.อปท. ให้ครบถ้วน เพื่อให้มีกลไกในการดูแลพื้นที่อย่างทั่วถึง ในระดับจังหวัดควรจัดให้มีการประชุมร่วมกันตั้งเป้าหมายลดอุบัติเหตุอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ในส่วนของอำเภอก็ดำเนินการเตรียมการประชุม ศปถ.อำเภอ เพื่อหาแนวทางลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ร่วมกัน และท้ายที่สุดขอความร่วมมือจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่น ให้ความสำคัญกับการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ รวมทั้งด่านชุมชน ด่านครัวเรือน โดยให้ดำเนินการตามมาตรการต่างๆ และตัวชี้วัดตามแผนบูรณาการช่วงเทศกาลอย่างเข้มข้น เชื่อว่าตัวเลขการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจะสามารถลดลงได้จากการร่วมแรงร่วมใจบูรณาการการทำงานร่วมกัน
///