สภาพอากาศที่จังหวัดกาฬสินธุ์ร้อนจัด บางวันมีฝนตกลงมา ถือเป็นสัญญาณอันตรายที่จะเกิดความเสียหายให้กับอาชีพเลี้ยงกุ้งก้ามกรามเป็นอย่างมาก เนื่องจากเคยเกิดเหตุการณ์กุ้งน็อคตายเป็นประจำในช่วงนี้ ขณะที่ประมงจังหวัดกาฬสินธุ์แนะเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยลดปริมาณการเลี้ยง เพื่อลดความหนาแน่นของกุ้งในบ่อ และจัดการเรื่องน้ำให้เพียงพอ ก่อนที่จะเกิดความเสียหาย และอดที่จะได้ขายกุ้งในเทศกาลสงกรานต์
เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามสภาพอากาศที่ จ.กาฬสินธุ์ในช่วงนี้ พบว่าเข้าสู่ฤดูร้อนเต็มตัว กลางวันอากาศร้อนจัด บางวันมีฝนตกลงมา ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่ออาชีพเลี้ยงกุ้งก้ามกราม สัตว์เศรษฐกิจอันดับหนึ่งของ จ.กาฬสินธุ์เป็นอย่างมาก โดยเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง กำลังเร่งการเจริญเติบโตอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ขนาดตัวโต ที่จะจับจำหน่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับอาชีพเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในช่วงอากาศวิปริตนี้ จะส่งผลกระทบให้สภาพน้ำในบ่อมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น และหากมีฝนตกลงมาก็จะเกิดภาวะอากาศร้อนผสมกับอากาศเย็น ก็จะเป็นสาเหตุให้กุ้งก้ามกรามในบ่อปรับสภาพไม่ทัน และเป็นสาเหตุทำให้กุ้งน้อคตายยกบ่อได้ทันที เหมือนอย่างที่เคยเกิดเป็นประจำในช่วงเดือนมีนาคม สร้างความเสียหายให้กับอาชีพเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในภาพรวมมูลค่ามหาศาล ทำให้เกษตรกรกรประสบปัญหาเลี้ยงกุ้งขาดทุนซ้ำซาก และเสียโอกาสในการจำหน่ายกุ้งในเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึง เนื่องจากกุ้งจะขายดีมากในช่วงเทศกาลดังกล่าว
ด้านนายวุฒิชัย วังคะฮาต ประมง จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า เพื่อลดความเสียหายในบ่อเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในฤดูแล้ง เกษตรควรมีการวางแผนตั้งแต่เนิ่นๆ โดยปรับลดขนาดการผลิต หากจำเป็นต้องเลี้ยงควรคัดเลือกพันธุ์กุ้งก้ามกรามที่มีความแข็งแรง จากฟาร์มผู้ผลิตที่ได้มาตรฐานและเชื่อถือได้ โดยเฉพาะควบคุมการใช้น้ำและรักษาปริมาณน้ำในบ่อเลี้ยงให้มีการสูญเสียน้อยที่สุด นอกจากนี้ ควรลดปริมาณการให้อาหารลง เพื่อป้องกันน้ำเน่าเสีย จัดเตรียมบ่อสำรองไว้ใช้เติมน้ำในบ่อเลี้ยงให้ระดับน้ำบ่อเลี้ยงไม่น้อยกว่า 1 เมตร ใช้เครื่องสูบน้ำจากก้นบ่อพ่นให้สัมผัสอากาศแล้วไหลตกคืนสู่บ่อ หรือเครื่องตีน้ำแบบใบพัด หรือเครื่องอัดอากาศ เพื่อเพิ่มปริมาณออกซิเจนในบ่อ ลดการสูญเสียกุ้งตายยกบ่อ
นายวุฒิชัยกล่าวอีกว่า หากพบว่ากุ้งในบ่อมีความหนาแน่น ควรจับกุ้งก้ามที่ได้ขนาดขึ้นมาจำหน่ายในช่วงเวลาเช้า เพื่อลดปริมาณกุ้งก้ามกรามภายในบ่อ นอกจากนี้ต้องเพิ่มความสนใจ สังเกตอาการต่างๆ ของกุ้งก้ามกรามที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด หากมีอาการผิดปกติจะได้แก้ไขได้ทันท่วงที นอกจากนี้ควรติดตามข่าวสารการประกาศจากทางราชการ เช่น พยากรณ์อากาศ การปิดเปิดน้ำโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวเป็นประจำ เพื่อวางแผนการใช้น้ำและการผลิตให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะลดความสูญเสียและป้องกันกุ้งน็อคตายดังกล่าว