โรงเรียนอนุบาลพิจิตรสร้างบรรทัดฐานความเสมอภาคเท่าเที่ยมทางการศึกษายืนยันยุคนี้พอกันทีการรับเงินใต้โต๊ะ-รับแป๊ะเจี๊ยะ จัดการจับฉลากรับเด็กเข้าเรียนแบบโปร่งใสออกเทียบเชิญ ป.ป.ช.พิจิตร-ชมรม STRONGจิตพอเพียง และสื่อมวลชนร่วมเป็นสักขีพยานสร้างจิตสำนึกผู้ปกครองและเด็กโตไปไม่โกงต้องเริ่มจากเข้าโรงเรียนอนุบาล
วันเสาร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2565 ดร.กมล สุมาลา ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลพิจิตร ได้จัดให้มีการจับฉลากในการรับเด็กเข้าชั้นเรียนของโรงเรียนอนุบาลพิจิตร โดยได้เชิญ นางสาวธนภร แตงจันทร์ เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดพิจิตร และชมรม STRONGจิตพอเพียง พร้อมด้วย ว่าที่พันตรีสุวิศิษฏ์ กันทา รองผอ.สนง.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิจิตร เขต 1 ร่วมเป็นสักขีพยานโดยในวันนี้ ร.ร.อนุบาลพิจิตร เปิดรับเด็กอนุบาล 2 อายุ 4 ขวบ รับ 180 คน มีมาสมัคร 170 คน จึงไม่ต้องจับฉลาก
แต่ชั้นอนุบาล 1 (3 ขวบ) เปิดรับ 3 ห้องเรียน จำนวน 90 คน ปรากฎว่ามีเด็กสมัคร 97 คน พอถึงเวลารายงานตัวเพื่อจับฉลากปรากฏว่าเด็กและผู้ปกครองมารายงานตัว 94 คน ดังนั้นจึงต้องมีการจับฉลากคัดออก 4 คน ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
สำหรับบรรยากาศการจับฉลากในครั้งนี้เริ่มต้นจากคณะกรรมการของโรงเรียนนำฉลากจำนวน 94 ใบ แบ่งออกเป็นฉลากที่ระบุคำว่า ได้ กับคำว่า ไม่ได้ โดยมีฉลากที่ระบุคำว่า ได้ 90ใบ และระบุคำว่า ไม่ได้ 4 ใบ จากนั้นก็ให้ผู้ปกครองนำเด็กขึ้นจับฉลากท่ามกลางความตื่นเต้นเร้าใจด็แล้วไม่ต่างกับการจับใบดำ-ใบแดงของการเกณฑ์ทหารเลยทีเดียว บรรดากองเชียร์ที่เป็น ปู่-ย่า,ตา-ยาย ต่างนั่งอยู่นอกหอประชุมก็นั่งสวดมนต์ภาวนาขอให้หลานจับฉลากได้เข้าเรียนที่โรงเรียนอนุบาลพิจิตรแห่งนี้เนื่องจากเป็นโรงเรียนอนุบาลที่มีชื่อเสียงประจำจังหวัด
ดร.กมล สุมาลา ผอ.โรงเรียนอนุบาลพิจิตร กล่าวว่า..ตั้งแต่ตนเองมารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลพิจิตรแห่งนี้เข้าสู่ปีที่ 3 ทุกครั้งที่เปิดรับสมัครเด็กเข้าโรงเรียนก็จะใช้วิธีจับฉลากและได้เชิญตัวแทนจากสำนักงาน ป.ป.ช.พิจิตร ให้มาร่วมเป็นสักขีพยานให้เห็นความโปร่งใสด้วยทุกครั้ง ทั้งนี้ก็เพื่อต้องการสร้างบรรทัดฐานความซื่อสัตย์สุจริตโปร่งใสให้ผู้ปกครองและเด็กได้รับรู้รับทราบว่าความซื่อสัตย์สุจริตนั้นต้องเริ่มปลูกฝังตั้งแต่ยังเป็นเด็กให้เด็กได้ซึมซับว่าการเริ่มต้นชีวิตการศึกษาเพื่อจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้าต้องไม่มีการเริ่มต้นด้วยการเสียค่าแป๊ะเจี๊ยะหรือเสียเงินใต้โต๊ะหรือต้องบริจาคด้วยเงินก้อนโตจึงจะเข้าโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดได้ ดังนั้นเพื่อให้เห็นถึงสิทธิเสมอภาคเท่าเทียมจึงได้ดำเนินการด้วยวิธีการนี้ดังกล่าว
ในส่วนของ นางสาวธนภร แตงจันทร์ เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดพิจิตร ได้มาร่วมสังเกตการณ์การจับฉลากนักเรียนประจำปีการศึกษา 2565 ของ ร.ร.อนุบาลพิจิตร ซึ่งถือเป็นภารกิจในการป้องกันการทุจริตซึ่งเห็นได้ว่าการดำเนินการของ ร.ร.อนุบาลพิจิตร เป็นการดำเนินการอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม ลูกคนรวย-ลูกคนจนก็มัสิทธิเสมอภาคเท่าเทียมกัน
สิทธิพจน์ พิจิตร