ติดตามผลการดำเนินงานของกลุ่มสมาชิกโครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านกุดสิม-คุ้มเก่า อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ พร้อมชมนิทรรศการทรงงานพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 ที่โครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านกุดสิม-คุ้มเก่า ต.คุ้มเก่า อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ พลเอกสุวิทย์ เกตุศรี ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและความมั่นคง มอบหมาย พลตรีพรชัย มาหลิน ผู้บัญชาการกองพลทหารม้าที่ 3/ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เขตพื้นที่กองพลทหารม้าที่ 3 ติดตามผลการดำเนินงานของกลุ่มสมาชิกโครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านกุดสิม-คุ้มเก่า อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ โดยมีพันเอกสุรศักดิ์ สำราญบำรุง รอง ผอ.กอ.รมน.จังหวัดกาฬสินธุ์ นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รองผวจ.กาฬสินธุ์ พันเอกสิทธิศักดิ์ พรหมดิเรก รอง ผบ.ม.6 นายคงคา ชื่นจิต นายอำเภอเขาวง พ.ต.อ.กันตพัฒน์ ภาคธรรม ผกก.สภ.เขาวง พ.ท.ประภัทรพล พินิจมนตรีหัวหน้าชุดประสานงานโครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านกุดสิม-คุ้มเก่า และหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชน สมาชิกโครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านกุดสิม-คุ้มเก่าให้การต้อนรับ
พลตรีพรชัย มาหลิน ผู้บัญชาการกองพลทหารม้าที่ 3/ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เขตพื้นที่กองพลทหารม้าที่ 3 กล่าวว่าโครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านกุดสิม-คุ้มเก่า เป็นโครงการที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีความห่วงใยราษฎรในพื้นที่ เมื่อครั้งเสด็จแปรพระราชฐาน ที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ ในห้วงวันที่ 1-14 มิถุนายน 2535 ทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ประสบภัยแล้ง ซึ่งในวันที่ 9 มิถุนายน 2535 พระองค์ท่านได้เสด็จเยี่ยมพสกนิกร ที่โรงเรียนเขาวงพิทยาคาร และทรงมีพระราชเสาวนีย์ ให้นำเอาโครงการส่งเสริมศิลปาชีพ มาดำเนินการช่วยเหลือ และแก้ปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อนของราษฎรที่ประสบภัยแล้ง ซึ่งราษฎรในพื้นที่ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน และประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก
พลตรีพรชัยกล่าวอีกว่า ต่อมาเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2535 พระองค์ท่านได้เสด็จเยี่ยมราษฎรบ้านกุดสิม-คุ้มเก่าอีกครั้ง ได้มีพระราชเสาวนีย์รับราษฎรในพื้นที่ อ.เขาวง และพื้นที่ข้างเคียง เป็นสมาชิกของโครงการส่งเสริมศิลปาชีพ และพระราชทานเงินให้นำไปเป็นทุนในการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม, ทอผ้าไหม, แกะสลักไม้และจักสานเพื่อประกอบเป็นอาชีพเสริมรายได้ให้แก่ครอบครัว พร้อมทั้งได้มอบทุนการศึกษาให้กับเด็กนักเรียนที่ยากจน และทรงรับราษฎรที่เจ็บป่วยไว้เป็นคนป่วยในพระบรมราชานุเคราะห์
“ทั้งนี้โครงการส่งเสริมศิลปาชีพ จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นการถวายความกตัญญูกตเวทีแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง, เพื่อเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและงานฝีมือของภาคอีสาน ซึ่งนับว่าเป็นมรดกที่มีค่ายิ่งของชาวไทยให้ได้รับการสืบทอดตลอดไป, เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของราษฎรที่ยากจนให้ดีขึ้น ให้ราษฎรได้รู้จักช่วยเหลือตนเอง และมีความขยันขันแข็งในการประกอบอาชีพ, เพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัวเพิ่มขึ้น และเพื่อส่งเสริมให้ราษฎรมีความรัก และหวงแหนถิ่นที่อยู่อาศัย ไม่อพยพไปหางานทำในกรุงเทพ ฯ สนับสนุนให้ราษฎร ซึ่งมีพื้นที่น้อยไม่พอเพียงในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้ใช้พื้นที่ซึ่งมีจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ปัจจุบันมีกลุ่มสมาชิกทั้งหมด 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มทอผ้า, กลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหม, กลุ่มแกะสลักไม้ และกลุ่มจักสาน จำนวนสมาชิก 176 คน และมีผู้ป่วยในพระบรมราชานุเคราะห์ จำนวน 18 คน” พลตรีพรชัยกล่าว
ด้านนายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รองผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า จากการติดตามผลการดำเนินงานของกลุ่มสมาชิกโครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านกุดสิม-คุ้มเก่า อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ ที่ดำเนินการมาถึงปัจจุบัน พบว่ามีความเข้มแข็ง สมาชิกกลุ่มมีอาชีพ สามารถสืบทอดความรู้ ภูมิปัญญามาแบบรุ่นสู่รุ่น มีรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตลอดปี โดยมีตลาดรองรับผลิตภัณฑ์หลายแห่ง ทั้งจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่อาคารผลิตภัณฑ์โครงการ ร่วมทั้งจำหน่ายนอกสถานที่ ซึ่งผลิตภัณฑ์ของสมาชิกได้รับการตรวจรับรองเครื่องหมายมาตรฐานตรานกยูงพระราชทาน ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ภายในโครงการ ได้แก่ ไหมมัดหมี่ ผ้าสะใบ ผ้าพันคอ เสื้อเย็บมือ ผ้าย้อมคราม ผ้ามัดหมี่ย้อมคราม ผ้าขาวม้า และผ้าสี่ตะกอ
นายศุภศิษย์กล่าวอีกว่า ในส่วนของทางการสนับสนุนของทางจังหวัด โดยนายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ ได้ร่วมกับส่วนราชการ องค์กรปกครองท้องถิ่น ภาคเอกชน รณรงค์ส่งเสริมการสวมใส่ผ้าไทย เพื่อสนับสนุนให้กลุ่มผู้ผลิตมีรายได้ จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ซึ่งมีความหลากหลาย ทั้งในส่วนของวัสดุที่นำมาถักทอเป็นผืนผ้า เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าไหมแพรวา ที่ประดับด้วยลวดลาย ประณีต สวยงาม แสดงออกถึงอัตลักษณ์ของความเป็นไทย ซึ่งผลิตภัณฑ์ของสมาชิกกลุ่มศิลปาชีพโครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านกุดสิม-คุ้มเก่า ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า ราคายุติธรรม ที่สำคัญผู้ประกอบการเกิดรายได้ ตามนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมอาชีพ กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน เพื่อให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในโอกาสติดตามผลการดำเนินงานของกลุ่มสมาชิกโครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านกุดสิม-คุ้มเก่าครั้งนี้ กิจกรรมมีการรับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงานของโครงการฯ เยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ภายในโครงการฯ ชมการสาธิตการดำเนินงานของกลุ่มสมาชิก ได้แก่ การสาธิตของกลุ่มจักสาน, การสาธิตการทอผ้าฝ้าย, การสาธิตการทอผ้าไหมมัดหมี่ลายขอพระราชทาน และการสาธิตการตัดเย็บขึ้นรูปเสื้อผ้า และนิทรรศการทรงงาน ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้