เกษตรกรชาวไร่มันที่จังหวัดกาฬสินธุ์ โอดครวญปุ๋ยเคมีราคาสูงถุงละ 1,300 บาท ประกอบกับสภาพอากาศที่เริ่มแห้งแล้ง ดินเสื่อมโทรม ได้ผลผลิตต่ำ ถึงแม้ราคารับซื้อหัวมันสำปะหลังจะสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา และสูงกว่าราคาเกณฑ์กลางตันละ 2,600 บาท โดยขายได้ตันละ 2,700-2,800 บาท แต่ก็เสี่ยงขาดทุน เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงไร่ละ 5,000 บาท วอนรัฐบาลควบคุมราคาปุ๋ยเคมี
[embedyt] https://www.youtube.com/watch?v=QDitc1jy7Uw[/embedyt]
เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการเก็บเกี่ยวผลผลิตหัวมันสำปะหลังสด ของเกษตรกรชาว จ.กาฬสินธุ์ พื้นที่หลายอำเภอ ซึ่งอยู่ในช่วงทำการเก็บเกี่ยวและนำผลผลิตออกสู่ตลาด พบว่ากำลังลงมือเก็บเกี่ยวกันอย่างคึกคัก จากการสอบถามทราบว่าราคารับซื้อผลผลิตปีนี้สูงกว่าปีที่ผ่านมา และสูงกว่าราคาที่คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิง โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งกำหนดราคาหัวมันสำปะหลังสด เชื้อแป้ง 25% กิโลกรัมละ 2.60 บาท หรือตันละ 2,600 บาท แต่แหล่งรับซื้อให้ราคาสูงกว่าราคาเกณฑ์กลาง กิโลกรัมละ 2.70-2.80 บาท หรือตันละ 2,700-2,800 บาท
นางวัน ภูมีเมฆ อายุ 62 ปี ชาวไร่มันสำปะหลัง บ้านดงเค็ง หมู่ 14 ต.ดอนสมบูรณ์ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ปัญหาที่ชาวไร่มันประสบปัญหาคือต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดยเฉพาะปุ๋ยเคมี ซึ่งมีราคาสูงถึงถุงละ 1,300 บาท ซึ่งจะต้องใช้ปุ๋ยไร่ละ 2 ถุง จึงจะเพียงพอต่อการเจริญเติบโตและสะสมแป้งของหัวมันสำปะหลัง นอกจากนี้ชาวไร่มันยังต้องแบกรับภาระค่าใช่จ่ายในขั้นตอนการผลิตด้านอื่นๆอีกมาก เช่น ค่าเช่าพื้นที่ปลูกมันไร่ละ 1,500 บาท ค่ารถไถพรวนไร่ละ 600 บาท ค่ารถยกร่องไร่ละ 600 บาท ค่ารถขุดหัวมันไร่ละ 200 บาท ค่ารถยกหัวมันขึ้นรถบรรทุกตันละ 100 บาท ค่าแรงงานคนงาน ทั้งปลูกมัน ดายหญ้า ตัดหัวมันคนละ 300 บาท/วัน เฉลี่ยต้นทุนการผลิตสูงไร่ละ 5,000 บาท ขณะที่หากโชคดีได้ผลผลิตสูงหน่อย ขายหัวมันสำปะหลังได้ไร่ละ 10,000 บาท แต่เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วเหลือครึ่งต่อครึ่ง
นางวันกล่าวอีกว่า หากปีใดประสบกับสภาพดินฟ้าอากาศแห้งแล้ง ฝนทิ้งช่วงติดต่อกันหลายเดือน ประกอบกับดินเสื่อมโทรม และปุ๋ยเคมีที่จะซื้อมาบำรุงราคาแพง ชาวไร่ที่มีเงินทุนน้อยจึงให้ปุ๋ยไม่เต็มที่ มันสำปะหลังจึงแคระแกร็น ไม่เติบโตและสร้างหัวสะสมแป้งเท่าที่ควร ก็จะประสบปัญหาขาดทุน เพราะได้ผลผลิตต่ำ สำหรับตนถึงแม้จะเสี่ยงขาดทุน ก็ยังจะประกอบอาชีพปลูกมันสำปะหลังต่อไป เพราะเป็นอาชีพ คิดเสียว่าจำนวนเงินที่ลงทุนไปในไร่มันเป็นเงินฝาก รอลุ้นขุดหัวมันสดไปขายเผื่อมีกำไร
“อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ราคาขายหัวมันสำปะหลังปีนี้จะสูงกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งพอจะทำให้ชาวไร่มันมีกำไรบ้าง แต่ก็ส่วนน้อย เพราะส่วนใหญ่ขาดทุน เนื่องจากมีการจ้างแรงงานและใช้เครื่องจักรกลการเกษตรในการผลิตและเก็บเกี่ยว เพื่อความสะดวกและประหยัดเวลา แต่ที่เป็นปัญหาสำคัญที่สุดคือปุ๋ยเคมีราคาแพง ทำให้ชาวไร่มันแบกรับไม่ไหว แม้จะขายหัวมันสดได้ราคาค่อนข้างดี แต่ในเมื่อปุ๋ยเคมีแพงก็แทบจะไม่มีกำไร จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลควบคุมราคาปุ๋ยเคมีตามท้องตลาดด้วย เพื่อต้นทุนการปลูกมันสำปะหลังจะลดลง และเป็นแนวทางช่วยชาวไร่มันได้มีกำไรบ้าง” นางวันกล่าวในที่สุด