ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวเผยฝนทิ้งช่วงยังไม่กระทบกับปริมาณน้ำเขื่อนลำปาว ยืนยันฤดูแล้งปีนี้มีน้ำใช้เพื่อการอุปโภค บริโภค ทำนาปรัง เลี้ยงกุ้งก้ามกรามอย่างเพียงพอ เผยห้วงเวลาเดียวกันมีปริมาณน้ำมากกว่าปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันยังประสานท้องถิ่นในการบริหารน้ำให้ครอบคลุมพื้นที่ และขอความร่วมมือประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด รู้จักแบ่งปัน เพื่อให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด
[embedyt] https://www.youtube.com/watch?v=tEgHJWBfybI[/embedyt]
เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2565 ที่บริเวณอาคารผันน้ำเขื่อนลำปาว อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ นายสำรวย อินพิทักษ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว หรือเขื่อนลำปาว พร้อมด้วยนายณรงค์ศักดิ์ ปิณฑดิษฐ หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวออกสำรวจและติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำลำปาว หลังเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงมานานกว่า 3 เดือน และเป็นช่วงที่กำลังเข้าสู่ฤดูแล้งเต็มตัว
นายสำรวย อินพิทักษ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว กล่าวว่า ปัจจุบันปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำลำปาว หรือเขื่อนลำปาวในฤดูแล้งนี้อยู่ที่ 1,120 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 57% จากความจุอ่าง 1,980 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้หากเปรียบเทียบปริมาณน้ำกับห้วงเวลาเดียวกันในปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งมีปริมาณเพียง 855 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 42% ขณะนี้มีมากกว่าถึง 265 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจากปริมาณของน้ำในอ่างเก็บน้ำลำปาวดังกล่าว และสถานการณ์ฝนที่ทิ้งช่วงมานานหลายเดือน ยืนยันว่าเพียงพอต่อการใช้น้ำทุกรายการ ทั้งเพื่อการอุปโภค บริโภค เลี้ยงสัตว์ การเกษตร การประมง โดยเฉพาะในส่วนของการทำนาปรังและเลี้ยงกุ้งก้ามกราม เลี้ยงปลากระชัง
นายสำรวย กล่าวอีกว่า ในส่วนของพื้นที่รับน้ำชลประทาน ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว โดยเฉพาะพื้นที่ทำนาปรังประมาณ 250,000 ไร่ ขณะนี้เกษตรกรเริ่มลงมือทำนาปรังแล้วประมาณ 148,000 ไร่ หรือมากกว่า 50% แล้ว และคาดว่าเกษตรจะปลูกพืชฤดูแล้งและทำนาปรังเต็มพื้นที่กว่า 280,000 ไร่ ซึ่ง ในส่วนที่อยู่ในโซนพื้นที่สูงอาจจะยังไม่ได้รับน้ำเต็มที่ เพราะอาจมีตะกอนดินปิดทางจราจรของน้ำ ส่วนมากจะเป็นคลองไส้ไก่ ซึ่งอยู่ในการดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็ได้มอบหมายฝ่ายส่งน้ำประสานท้องถิ่นท้องที่ทำการตรวจสอบและแก้ไข เพื่อที่จะได้รับน้ำโดยเร็วและสะดวก เกษตรกรจะได้ไม่เสียโอกาสในการประกอบอาชีพ อย่างไรก็ตามถึงแม้ปริมาณน้ำจะเพียงพอ แต่ก็ยังต้องขอความร่วมมือประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด รู้จักแบ่งปัน เพื่อให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด