เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าหนุน นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ตั้งคณะทำงานศึกษาปลดล๊อกบุหรี่ไฟฟ้า ชี้ผลดีในการเก็บภาษีเข้าประเทศและให้ทางเลือกกับประชาชนในแง่การเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายน้อยกว่าการสูบบุหรี่ ชี้ชัดโลกเทรนด์โลกเปลี่ยนไป จับเท่าไหร่ก็ไม่หมด ประเทศชาติเสียประโยชน์ทั้งด้านสาธารณสุขและด้านภาษี และเปิดให้ผู้สนับสนุนร่วมกันลงชื่อเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม
เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า “กลุ่มลาขาดควันยาสูบ” (ECST) และเฟซบุคเพจ “บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร” ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 1000,000 คน เผยหลังพบกับ รมต. ดีอีเอส ว่า “พวกเราสนับสนุนความตั้งใจของ รมต. ชัยวุฒิในการตั้งคณะทำงานที่เป็นกลางเพื่อศึกษาทางเลือกในการใช้บุหรี่ไฟฟ้าแบบถูกกฎหมาย เช่นเดียวกับที่มีการปลดล๊อคกระท่อมและกัญชา ทั้งที่เป็นยาเสพติดมาก่อน และหวังว่าการตั้งคณะทำงานในครั้งนี้จะมีความโปร่งใส เปิดรับฟังเสียงจากประชาชนอย่างแท้จริง และเปิดโอกาสให้ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าได้มีส่วนร่วมในการให้ข้อมูล เราเชื่อว่าการปลดล็อคบุหรี่ไฟฟ้าและนำมาควบคุมให้ถูกกฎหมายจะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการลดอัตราการสูบบุหรี่ ช่วยให้คนในสังคมห่างไกลอันตรายจากควันบุหรี่ ป้องกันการใช้บุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนได้ และกรมสรรพสามิตสามารถเก็บภาษีได้อย่างถูกต้อง เช่นเดียวกับประเทศอังกฤษที่อัตราการสูบบุหรี่ลดลงได้ เพราะมีการสนับสนุนให้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า ทำให้นิวซีแลนด์และฟิลิปปินส์ที่ต้องการลดปัญหาการสูบบุหรี่ในประเทศ ก็ได้ร่างกฎหมายใหม่เพื่อควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบไร้ควันให้แตกต่างจากการควบคุมบุหรี่และไม่แบนด้วย” นายอาสา ศาลิคุปต กล่าว
นายมาริษ กรัณยวัฒน์ กล่าวเสริมว่า “เราเริ่มมีความหวังว่าเสียงของผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าซึ่งวันนี้น่าจะมีประมาณ 5 แสน – 2 ล้านคน และผู้สูบบุหรี่ประมาณ 10 ล้านคนที่สูญเสียโอกาสในการเข้าถึงผลิตภัณ์ที่มีอันตรายน้อยกว่าเหมือนประเทศอื่นๆ ได้รับการรับฟังจากภาครัฐมากขึ้น ซึ่งตลอดปีที่ผ่านมา เราก็ได้เห็นข่าวจากอังกฤษ นิวซีแลนด์ หรือประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์ที่มีความเคลื่อนไหวกันไปในแนวโน้มที่หันมาสนับสนุนการใช้บุหรี่ไฟฟ้าทดแทนบุหรี่ซิกาแรตแบบเผาไหม้ ด้วยเหตุผลว่าบุหรี่ไฟฟ้านั้นสามารถลดสารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้มากกว่า โดยเฉพาะในกรณีของคนสูบบุหรี่ที่ต้องการสารนิโคติน ที่ยังไม่สามารถเลิกบุหรี่ได้เฉียบพลันทันทีทันใด แม้ว่าฝ่ายต่อต้านจะยังพยายามอ้างถึงหรือนำเสนอข้อมูลด้านลบเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า แต่หลักฐานงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์หรือนโยบายของต่างประเทศที่เราพยายามหยิบมาเผยแพร่ก็ช่วยยืนยันได้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าสำหรับคนที่สูบบุหรี่ และหลายประเทศก็สามารถลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ได้จึงควบคุมให้เป็นสินค้าที่ถูกกฎหมายในกว่า 70 ประเทศทั่วโลก” นายมาริษกล่าว
นอกจากนี้ นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส. กทม. พรรคก้าวไกล ยังได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า “ผมเป็นคนหนึ่งที่พยายามผลักดันเรื่องนี้เช่นเดียวกัน ก่อนหน้านี้ ผมเคยได้ยื่นกระทู้ถามไปยัง รมต พาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ว่ากระทรวงมีมาตรการหรือแนวทางที่จะทำให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าถูกกฎหมายหรือไม่ เพราะเชื่อว่าการที่บุหรี่ไฟฟ้าถูกแบนอยู่เช่นนี้ทำให้ประชาชน รัฐบาล และการยาสูบแห่งประเทศไทยเสียประโยชน์” พร้อมทิ้งท้ายด้วยว่า “จะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนสายควันจนกว่าเรื่องนี้จะถึงฝันเสียที” โดยโพสต์ดังกล่าวมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นสนับสนุนและแสดงความขอบคุณเป็นจำนวนมาก เช่นผู้ใช้รายหนึ่งที่ใช้ชื่อบัญชีว่า Nawin ระบุว่า “สนับสนุนครับ ทุกคนควรมีสิทธิเลือกครับ ผมเห็นด้วยที่ให้ถูกกฎหมายครับ” ด้านเจ้าของเฟซบุ๊กชื่อ Samran ให้ความเห็นว่า “ขอบคุณครับ เรื่องนี้มันอยู่ใต้ดินมานาน ควรทำให้ถูกกฎหมายแบบประเทศอื่นๆ”